บริการ
TH
EN
TH
CN

เทคโนโลยี Blockchain กับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

เทคโนโลยี Blockchain เป็นเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology) ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างมาก แต่บุคลากรในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือผู้ประกอบการที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการดำเนินธุรกิจ ยังคงสับสนและสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยี Blockchain ที่มีต่อวิธีการดำเนินธุรกิจของตนเองอยู่ ในบทความนี้จะช่วยทำให้บุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ เข้าใจถึงความสำคัญและผลกระทบของเทคโนโลยี Blockchain ที่มีต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต แต่ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain เรามาลองพิจารณาเกี่ยวกับสถานะการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี Blockchain ในปัจจุบัน ดังนี้

Statistics.png

ภาพที่ 1 A Few Statistics Proving the Current State of Blockchain

ที่มา: https://www.appinventiv.com/blog/real-impact-of-blockchain-technology-on-economy/

• มีผู้สร้างบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเทคโนโลยี Blockchain มากกว่า 2 ล้านรายในปี 2019

• มีผู้ออก ICO (Initial Coin Offering) การเสนอขายเหรียญเงินดิจิทัลให้กับนักลงทุน โดยเฉลี่ย 200 รายต่อเดือนในตลาดการเงิน

• มีประกาศตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain ในเว็บไซต์ LinkedIn เพิ่มขึ้น 3 เท่า

• มี 14 ประเทศ ที่มีการวางแผนจะนำ Cryptocurrency (เงินดิจิทัล) มาใช้อย่างเป็นทางการ

• มีการเติบโตของ Ethereum (สกุลเงินดิจิทัลสกุลหนึ่ง) มากกว่า 50 เท่าในปีที่ผ่านมา

• ทั่วโลกมีการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain ที่จะนำไปใช้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ในปี 2018 จำนวน ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

• มีการลงทุนใน ICO เพิ่มขึ้นมากขึ้น 16 เท่า

• มีการบันทึกรายการที่เกี่ยวข้องกับการฝากเงินผ่านธนาคารที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ประมาณ 8-12 พันล้านดอลลาร์

BlockChain ทำงานอย่างไร Blockchain นั้นเป็นเทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบกระจาย ซึ่งถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนกับการมีแผ่นตารางทำการขนาดใหญ่ ที่สามารถใช้บันทึกธุรกรรมต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยคนที่เข้ามาร่วมทำงานกับข้อมูลนี้ สามารถทำงานได้จากคอมพิวเตอร์คอมพิวเตอร์ส่วนตัวของตนเองเพราะเป็นข้อมูลเปิดสาธารณะที่ใคร ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือตรวจสอบได้ ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางในการตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกธุรกรรมต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในชุดข้อมูล

Blockchain ใช้วิทยาการเข้ารหัสข้อมูลและเทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ในการบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ซึ่งหากเรานำปริมาณข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ Internet of Things มาใช้บันทึกข้อมูลด้วยเทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ ก็จะพบว่ามีรายการข้อมูลธุรกรรมที่จะต้องบันทึก เป็นจำนวนหลายล้านครั้ง โดยเมื่อนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะช่วยให้ไม่ต้องอาศัยพลังของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่แต่สามารถประมวลผลผ่านแพลตฟอร์มขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากที่จะเข้ามาช่วยกันประมวลผลให้การบันทึกธุรกรรมมีความปลอดภัย ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ จึงทำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain กับอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและยังพัฒนาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย

แม้ Blockchain จะมีประโยชน์ และสามารถใช้ได้อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ Blockchain มักเป็นที่รู้จักในแวดวงทางการเงินผ่านการประยุกต์ใช้ในการเก็บข้อมูลสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็คือ Bitcoin โดยในหลายประเทศยังไม่อนุญาตให้เราสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยนบริการต่าง ๆ ด้วย Bitcoin ได้เพราะการทำธุรกรรมหรือการซื้อขายแลกเปลี่ยน ด้วย Bitcoin ทั้ง 2 ฝ่ายที่เข้ามาทำธุรกรรมไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใครทำให้เป็นอิสระจากการควบคุมจากหน่วยงานกลางที่มีอำนาจ แต่ก็ยังได้รับความเชื่อถือในการทำธุรกรรม

Blockchain.jpg

ภาพที่ 2 การทำงานของ Blockchain

ที่มา: https://www.researchgate.net/figure/How-the-Bitcoin-Blockchain-Works_fig5_331040157

วิธีการทำงาน Blockchain คือถ้าเราจะบันทึกธุรกรรมภายในของเราในฐานข้อมูลแบบกระจาย ทุกคนที่อยู่ในสายโซ่เดียวกัน (Chain) แต่ละคนก็จะมีการบันทึกข้อมูลลงในบล็อกที่มีการเข้ารหัสไว้พร้อม ๆกันในฐานข้อมูลของแต่ละคน ซึ่งเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่บันทึกรายการใดถูกต้อง ดังนั้นในแต่ละสายโซ่ Chain จะต้องมีผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมรายการนั้น ซึ่งแต่ละครั้งจะมีผู้ตรวจสอบความถูกต้องได้เพียงคนเดียว ซึ่งผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องนั้นเราจะเรียกว่า Miners ซึ่งการมี Miner คนเดียว ย่อมไม่สามารถไว้ใจได้ ดังนั้นในระบบ Blockchain จึงถูกออกแบบให้มี Miner จำนวนมาก เข้ามาแย่งกันทำหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของรายการ โดยในแต่ละครั้งจะมี Miner เพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะได้รับฉันทามติให้เป็นผู้ตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม ผ่านหลักฐานการทำงาน ดังนั้นการที่ Miner จะสามารถเป็นผู้ตรวจสอบรายการได้สำเร็จ Miner จะต้องมีทรัพยากรการคำนวณที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในสายโซ่ (Chain) ด้วยกลไกนี้ ทำให้เทคโนโลยี Blockchain มีความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งจากการคาดการณ์ของหลายสำนัก ทำให้ประมาณการณ์ได้ว่าพลังการคำนวณทั้งหมดที่มีอยู่ของ Google เทียบได้กับพลังการประมวลผลเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในสายโซ่ Blockchain ที่ใช้ในการตรวจสอบการบันทึกรายการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin

เนื่องจาก Bitcoin ถือได้ว่าเป็นเงินสกุลดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในตลาดที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนบริการ ดังนั้นการตรวจสอบรายการชำระเงิน จึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทำให้มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาลงทุนในทรัพยากรในการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อที่จะคอยทำหน้าที่เป็น Miner ให้กับระบบ Blockchain Bitcoin โดย Miner ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมแต่ละรายการสำเร็จใน Bitcoin Blockchain จะได้รับผลตอบแทนเป็น Bitcoin และนั่นเองคือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมระบบ Bitcoin Blockchain จึงมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือสูง เพราะใน Bitcoin Blockchain มีคอมพิวเตอร์จำนวนนับไม่ถ้วนที่คอยทำหน้าที่ Miner ดังนั้นการที่จะกระทำการฉ้อโกงภายใต้ทรัพยากรการคำนวณที่ทรงพลังที่สุดในโลกย่อมไม่สามารถกระทำได้

เทคโนโลยี BlockChain แบ่งออกได้เป็น 3 ยุค

Decoded.png

ภาพที่ 3 Decoded: The Evolution of Blockchain Technology

ที่มา: https://www.appinventiv.com/blog/real-impact-of-blockchain-technology-on-economy/

ยุค Blockchain 1.0

Blockchain ยุคนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการนำมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการเงินแบบดั้งเดิม และเริ่ม มีการนำเอา Bitcoin และ Cryptocurrency ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของ Blockchain มาประยุกต์ใช้ ซึ่งในยุคนี้ซอฟต์แวร์ Blockchain ส่วนใหญ่จะเขียนด้วยภาษา C++ และใช้รูปแบบของการตรวจสอบด้วยหลักฐานการทำงาน (Proof of Work) และมีการใช้แบบจำลองฉันทามติ (Consensus Model) ในการยืนยันธุรกรรม

ซึ่งหลังจากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อการทำธุรกรรมด้าน Cryptocurrency ไประยะหนึ่ง นักพัฒนาก็พบว่าความจริงแล้วเทคโนโลยี Blockchain มีศักยภาพมหาศาล นอกเหนือจากการนำมาใช้ในด้าน Cryptocurrency เท่านั้น นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ต่อมาในยุคที่สอง

ยุค Blockchain 2.0

ยุคนี้เริ่มต้นเมื่อ Bitcoin เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากการที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดเงินและตลาดทุน นักพัฒนาจึงเริ่มพัฒนาขยายความสามารถของเทคโนโลยี Blockchain ให้กว้างขวางขึ้น ตัวอย่างของ Cryptocurrency ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ได้แก่ Ethereum ที่มีคุณสมบัติ นอกจากการเป็น Cryptocurrency แล้วยังสามารถต่อยอดไปสร้างเป็นแพลตฟอร์มที่ขยายขอบเขตการใช้งานไปในรูปแบบ แอปพลิเคชันได้อีกด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดและรูปแบบของการทำข้อตกลงแบบอัตโนมัติ ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หรือ การทำ Smart Contact นั่นเอง

ยุค Blockchain 3.0 Blockchain 3.0 ซึ่งเป็น Blockchain ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยกระบวนการของ Blockchain ในยุคนี้ มีประสิทธิภาพสูง สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการตลาดได้เป็นอย่างมาก เพราะ Blockchain ในยุคนี้ได้รับการพัฒนาให้สามารถดำเนินธุรกรรมข้ามโซ่ได้ ทำให้นักพัฒนาแอปพลิเคชัน Blockchain สามารถใช้ประโยชน์จากกลไกการยืนยันธุรกรรมที่นอกเหนือจากรูปแบบของการตรวจสอบด้วยหลักฐานการทำงาน (Proof of Work) แบบเดิม ๆ

นอกจากนี้ Blockchain 3.0 ยังเพิ่มแนวคิดเกี่ยวกับ Decentralized Ledger Technology (DLT) หรือเทคโนโลยีการกระจายศูนย์กลางในการลงบันทึกรายการธุรกรรม ซึ่งเทคโนโลยีนี้ส่งผลต่อการทำให้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เพราะแต่เดิมธุรกรรมส่วนใหญ่จะถูกรวมศูนย์ไว้ที่ตรงกลาง เช่น ธุรกรรมทางการเงิน ธนาคารจะทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกและยืนยันการทำธุรกรรมของลูกค้า แต่เมื่อเกิดการกระจายศูนย์ ธนาคารก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ตัวอย่างการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ในช่วงที่ผ่านมามีอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่ไม่การยอมรับและนำเอาเทคโนโลยี Blockchain เข้าไปใช้ในอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็มีบางอุตสาหกรรม เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ในการจัดการกับธุรกรรมทางธุรกิจของตนเอง ดังนั้นเราจะมาลองดู ตัวอย่างการนำ Blockchain ไปประยุกต์ใช้อย่างประสบความสำเร็จ เช่น

Industry.png

ภาพที่ 4 Financial Industry

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

  1. ตัวอย่างบริการด้านการเงิน

    จากสถิติตัวเลขล่าสุดของการสำรวจจากสื่อออนไลน์ Finance Time แสดงให้เห็นว่าการนำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมบริการด้านการเงิน ลงได้ประมาณปีละ 2.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมบริการด้านการเงิน ได้นำเอาเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกรรมหลายอย่าง อาทิ ใช้ในกระบวนการการคัดกรองลูกค้า ใช้เพื่อการบันทึกข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ใช้ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและการประมวลผลธุรกรรมทางการค้า เป็นต้น

    ตัวอย่างความสำเร็จที่ชัดเจน คือ ในแต่ละปีอุตสาหกรรมประกันภัย มีธุรกรรรมที่มีปัญหาการฉ้อโกง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมนี้ปีละกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ ทำให้อุตสาหกรรมนี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ เพื่อการตรวจสอบได้เป็นจำนวนมาก โดยในยุโรปมีบริษัทประกันภัยจำนวนหนึ่ง ได้รวมกลุ่มพันธมิตรในอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคม Riskblock (Riskblock Blockchain Consortium) โดยสมาชิกในสมาคม จะมีการแบ่งปันฐานข้อมูลลูกค้า มาแลกเปลี่ยนและตรวจสอบธุรกรรมการเคลมประกันซึ่งกันและกันในกลุ่มพันธมิตร Blockchain ทำให้บริษัทประกันภัยในสมาคม สามารถลดระยะเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของการเคลมประกันของลูกค้าได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว และช่วยลดปัญหาการเคลมซ้ำซ้อนและการฉ้อโกง ลงได้มาก

Smart.png

ภาพที่ 5 Smart Contracts

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

  1. ตัวอย่างการใช้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contact)

    เทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contract เหมาะอย่างยิ่งกับงานที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันและรักษาสิทธิความเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องมีการทำสัญญาตามกฎหมาย การรักษาสิทธิของเจ้าของ มักจะต้องอาศัยทนายหรือที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการให้ แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็สามารถที่จะกำหนดและดำเนินการได้ด้วยตนเอง ซึ่งปกติปัญหาเกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของและเรื่องของค่าลิขสิทธิ์นั้น เป็นเรื่องที่มีการใช้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ตลอดเวลา แต่เมื่อนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ทำได้ยาก เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆก็ตามในสัญญาหรือผลงาน การเปลี่ยนนั้นจะต้องได้รับการรายงานไปให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดที่อยู่ใน Chain (สายโซ่) เดียวกัน ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง

    ตัวอย่างของแอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่นี้ ได้แก่ Ujomusic ที่เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งที่ช่วยให้ศิลปินที่ขายผลงานผ่านระบบ Streaming ได้รับค่าลิขสิทธิ์จากผู้ฟังทั่วโลก

IDs.png

ภาพที่ 6 Digital IDs

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

  1. ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในเรื่องของการพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID)

    จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าประชาชนในโลกจำนวนประมาณ 1.1 พันล้านคนทั่วโลก ยังไม่มีวิธีพิสูจน์ตัวตน ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ทั้งนี้ตามเงื่อนไขของสถาบันการเงินในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบดิจิทัล จะมีระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับขั้นตอนในการเก็บข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งหากลูกค้าไม่มีวิธีพิสูจน์ตัวตน ก็จะไม่สามารถใช้บริการได้ อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้ให้บริการหลายราย ก็ยังไม่สามารถทำให้การพิสูจน์ตัวตน ผ่านมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพราะในแต่ละประเทศ มีกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ที่เข้มงวดแตกต่างกัน

    ปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีหลายราย เช่น IBM, Microsoft และ Cisco อยู่ระหว่างดำเนินการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ในการ ตรวจสอบและพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัล ได้อย่างปลอดภัยและเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น

IoT.png

ภาพที่ 6 Blockchain Internet-of-Things

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

  1. Blockchain Internet of Things (IoT)

    จากรายงานของ Gartner คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2020 จะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ IoT ประมาณ 20.4 พันล้านชิ้นและการคาดการณ์ต่อไปว่าตลาด IoT จะมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2026 ซึ่งอุปกรณ์ IoT ที่มีความสามารถจัดการ Blockchain ภายใน จะทำให้การประมวลผลต่าง ๆ ของอุปกรณ์ ทำได้เร็วขึ้นและปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้ เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องถูกควบคุมจากศูนย์กลางแบบอุตสาหกรรมการเงิน ทำให้ธุรกิจต่าง ๆสามารถนำอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยี Blockchain อยู่ภายใน ไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบได้มากขึ้นกว่าเดิม

    ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ที่ชัดเจนคือ helium ที่เป็นมาตรฐานเปิด ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ IoT เพื่อใช้สร้างเครือข่าย Blockchain แบบไร้สาย ที่มีการกระจายอำนาจและการจัดการได้อย่างง่าย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

อนาคตของเทคโนโลยี Blockchain

เทคโนโลยี Blockchain ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำไปประยุกต์ใช้งานและกำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีกระแสหลักในระยะต่อไป เพราะ Blockchain เป็นเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลแบบกระจายตัว ทำให้ไม่ถูกควบคุมจากส่วนกลาง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้การทำธุรกรรมในสังคมและเศรษฐกิจ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งต่างจากรูปแบบการทำธุรกรรมในรูปแบบเดิม การนำ Blockchain เข้ามาใช้จะทำให้รูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของเราทุกคนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นการปรับตัวในโลกยุคดิจิทัลนี้รวดเร็วและรุนแรง การเตรียมพร้อมและการสร้างความสามารถในการเปลี่ยนตัวเองบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานขององค์กรยุคใหม่ที่จะอยู่รอดได้ในอนาคต

โดย นายภาคภูมิ เอี่ยมจิตกุศล

ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

เอกสารอ้างอิง

  • Exploring the Practical Applications of Blockchain Technology November 5, 2019 By Ashley Viens
  • Beyond the Hype: The Real Impact of Blockchain on Economy August 8, 2019 By Chirag Bhardwaj
  • The new generation of Blockchain 3.0 January 28, 2018 By Itsuki Watahash