บริการ
TH
EN
TH
CN

การบูรณาการ Blockchain กับการประยุกต์ใช้ในระดับองค์กร

Blockchain คืออะไร

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่มีคนพูดถึงกันมากว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงโลกเหมือนที่อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนโลกในยุค 1990 ซึ่งมีการเปรียบเทียบว่า Blockchain ตอนนี้สภาพเหมือนกับอินเทอร์เน็ตในยุคเริ่มต้น ซึ่งภาคการเงินของประเทศนั้นไม่สามารถปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปได้จึงได้มีการนำไปศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อเป็นการลองทำดูว่าเราจะสามารถนำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับเรื่องต่างๆได้อย่างไร และแม้ว่าวันนี้อาจจะยังไม่มีการประยุกต์ใช้ในลักษณะที่เห็นเป็นรูปธรรมมากนักก็ตาม แต่ก็นับเป็นก้าวที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป

Blockchain คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุมที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ชนิดอื่นๆในอนาคต โดยไม่มีตัวกลางคือสถาบันการเงินหรือสำนักชำระบัญชี นั่นก็คือระบบ Blockchain จะไม่มีตัวกลางอย่างที่เคยเป็นมานั่นเอง จึงเท่ากับว่า Blockchain เป็นระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยการตัดตัวกลางอย่างสถาบันการเงินที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ออกไป ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลงและอาจจะส่งผลให้สถาบันการเงินที่เป็นตัวกลาง รวมไปถึงสำนักชำระบัญชีต่างๆอาจไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไปในอนาคต หากเทคโนโลยีนี้เข้ามาแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์

ขณะที่ Blockchain ไม่เพียงมีบทบาทอยู่แค่การทำธุรกรรมทางการเงินหรือแค่ระบบทางการเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบอื่นๆได้อีกด้วย เช่น การเก็บสถิติการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสมากขึ้น การให้ยืม Cloud Storage ระหว่างกัน บริการ Co-location ระบบ Peer to Peer Lending ระบบบันทึกประวัติทางการแพทย์ ระบบจัดเก็บกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่างๆ เช่น ทะเบียนรถ, โฉนดที่ดิน, หุ้น, ระบบแต้มส่งเสริมการขายอย่าง The One Card หรือ Stamp 7-11 และอื่นๆอีกมากมาย ถ้าเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี Blockchain ก็จะสามารถเพิ่มเสถียรภาพให้ระบบและลดต้นทุนในการขยายระบบได้อย่างมหาศาล

ปัจจุบันเหล่าธนาคารเองก็ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในการทำ Blockchain มากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดเหล่าสถาบันการเงินอย่างธนาคาร Citibank ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ รวมไปถึงบริษัท VISA ก็ได้เข้าลงทุนในบริษัท Blockchain ชั้นนำอย่าง Chain.com เพื่อแนวทางรักษาตลาดเทคโนโลยีนี้เช่นกัน

Blockchain ประกอบด้วย 4 ส่วนหลักสำคัญ คือ

1.กล่องเก็บข้อมูล หรือ Block ทำหน้าที่กระจายไปให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเก็บเอาไว้ โดยข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ และทุกๆ ครั้งที่มีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นจะมีการสร้างกล่องใหม่ขึ้นมา 2.จากนั้นจึงนำกล่องมาผูกเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า Chain โดยการผูกด้วยวิธี Hash Function ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของไฟล์ที่ใช้ในการ Verify หรือยืนยันความถูกต้องจากข้อมูลที่แต่ละคนถือเอาไว้ ถือเป็นตัวแทนของข้อมูลต้นฉบับ ซึ่งค่าที่ได้จากการ Hash นี้มีโอกาสที่ซ้ำกันยากมาก จึงเป็นคุณสมบัติที่เชื่อมั่นได้ในการนำมาใช้ยืนยัน (Verify) ข้อมูลที่แต่ละบุคคลถือไว้ 3.การตกลงร่วมกัน หรือ Consensus เพื่อกำหนดข้อตกลงที่ต้องเห็นพ้องร่วมกันด้วยอัลกอริทึมต่างๆ แล้วแต่การตกลง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องกฎและเครื่องมือที่ใช้ในเครือข่ายของผู้ใช้ 4.ขั้นตอนการตรวจสอบ หรือ Validation เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นร่วมกัน ซึ่งกระบวนการตรวจสอบต้องเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการทำธุรกรรมใดๆเกิดขึ้นจะสร้างกล่องใหม่ขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเชื่อมโยงกล่องนั้นเข้ากับห่วงโซ่เดิมที่ผูกรวมกัน โดยมีการยืนยันตัวเองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น ซึ่งข้อมูลธุรกรรมที่สร้างใหม่จะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ใช้คนอื่นๆในห่วงโซ่ผ่านข้อตกลงที่มีร่วมกันก่อนหน้านี้ และระบบจะทำการตรวจสอบ กระนั้นจึงทำให้เทคโนโลยี Blockchain ได้รับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและความถูกต้องสูง

ที่มา: https://www.g-able.com/digital-review/digital-transformation/cybersecurity/blockchain

.

ข้อดีของ Blockchain ยกตัวอย่างเช่น

1.Blockchain เปรียบเสมือนการเก็บข้อมูลแบบหนึ่งซึ่งสามารถแชร์ไปได้เป็นห่วงโซ่ หรือ Chain โดยที่ทราบได้ว่าใครเป็นเจ้าของของข้อมูลนั้นๆ ดังนั้นเมื่อข้อมูลถูกบันทึกไว้ใน Blockchain ไม่สามารถถูกปลอมแปลงหรือถูกแก้ไขได้ และสามารถติดตามลำดับการบันทึกข้อมูลย้อนหลังทั้งหมดได้อย่างโปร่งใส จึงทำให้ยากต่อการทุจริตเพราะข้อมูล

2.ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในกล่องที่อยู่บน Blockchain จะไม่ถูกควบคุมโดยใครคนใดคนหนึ่ง จะถูกกระจายไปจัดเก็บบนฮาร์ดแวร์หลายๆเครื่อง ซึ่งเราจะเรียกฮาร์ดแวร์ต่ละชุดนี้ว่า Node เมื่อจุดใดจุดหนึ่งเล็กๆในระบบเสีย จะไม่ส่งผลทำให้ระบบทั้งระบบล่ม

3.เมื่อธุรกรรมหรือสัญญาถูกจัดเก็บในรูปของข้อมูล การนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อบังคับให้ทำตามสัญญาหรือธุรกรรมต่างๆเหล่านั้นก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ และยังนำไปประยุกต์ใช้รูปแบบอื่น เช่น การแจ้งเตือนเมื่อสัญญากำลังจะหมดอายุได้ เป็นต้น และเมื่อการทำธุรกรรมหรือสัญญาเหล่านี้ไม่ต้องมีตัวกลาง ก็จะสามารถประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายลงไปได้อีกมาก

4.รองรับการเข้ารหัสสำหรับข้อมูลแต่ละชุดได้ ดังนั้นถึงแม้ข้อมูลของเราจะถูกกระจายไปยัง Node อื่นๆ และอาจถูกบางคนมองเห็น แต่คนอื่นๆก็จะไม่สามารถถอดรหัสข้อความของเราได้ นอกจากตัวเราเองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเหล่านี้ที่เราอนุญาตให้เข้าถึงได้เท่านั้น

ที่มา: https://www.siambc.com/what-is-blockchain/

การประยุกต์ใช้ Blockchain ยกตัวอย่างเช่น

สำหรับการใช้ในองค์กรที่มีการใช้ระบบ ERP (ERP, WPS, MES, CRM) สามารถนำ Blockchainมาใช้ เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงิน การติดตามการซื้อและจัดส่งผลิตภัณฑ์ การดูแลลูกค้า ฯลฯ โปร่งใสและน่าเชื่อถือ จนลดข้อพิพาท เพิ่มความพึงพอใจขอลูกค้า และสามารถติดตามข้อมูลและใช้สำหรับการอ้างอิงได้ทุกเวลาไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการนำ Blockchain ไปใช้งานจริงในปัจจุบันแล้ว เช่น

งานด้านธุรกรรมหรือสัญญา เช่น การเงินโดยสามารถใช้งานแทนเอกสารในรูปแบบเดิมๆได้เลย ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่าย และในอุตสาหกรรมประกันภัย Blockchain จะเข้ามาช่วยเพิ่มความโปร่งใสและป้องกันปัญหาการทุจริตในวงการประกันภัย

งานในธุรกิจที่ต้องการความโปร่งใส เช่น การบริจาคเงินให้กับองค์กรหรือบุคคลต่างๆ ทำให้ทราบข้อมูลการบริจาคเงินตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และลดค่าใช้จ่าย

งานติดตามสินค้าต่างๆ เช่น การติดตามเส้นทางขนส่งของอาหารสด ตั้งแต่วัตถุดิบออกจากฟาร์มไปสู่ลูกค้า กำหนดวันหมดอายุ การสืบสวนปัญหาต่างๆ

งานที่ต้องการความปลอดภัยสูง เช่น โตโยต้า ได้นำBlockchain มาพัฒนาการเก็บข้อมูลที่ได้จากผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้งานรถยนต์กว่าพันล้านข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับปรุงความปลอดภัยของเทคโนโลยีไร้คนขับให้มีประสิทธิภาพ

งานสำรองข้อมูลย้อนหลัง ให้มั่นใจว่าจะไม่ถูกทำลายหรือไม่ถูกเปลี่ยนแปลง สามารถใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลที่ต้องการสำรองเอาไว้ได้ หรือ บริการการจัดเก็บเอกสารสำหรับใช้ทำสัญญาโดยเฉพาะ

งานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น Muse Blockchain ได้สร้างแพลตฟอร์ม Streaming ชื่อว่า Peer Tracks ที่ผู้ฟังสามารถจ่ายเงินโดยตรงไปยังศิลปินได้ นอกจากจะช่วยเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว ยังช่วยตัดคนกลางออกไป ทำให้ศิลปินได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น

งานด้านการแพทย์ ใช้ Blockchain เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข้ามหน่วยงานและแพลตฟอร์มที่ต่างกันได้ เพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการนำข้อมูลมาวินิจฉัยและรักษาโรค แทนการเช็คแฟ้มประวัติคนไข้หรือโทรศัพท์ไปขอข้อมูลผู้ป่วย

.

สรุป

ดังนั้นการปรับตัวขององค์กรที่มีการใช้ระบบ Blockchain จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้องค์กรพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตที่จะมีระบบ Blockchain ใช้กันอย่างแพร่หลาย ความสำเร็จของ Blockchain จะสามารถพลิกสถานะการให้บริการด้านการเงินในโลกดิจิทัลได้หรือไม่นั้น การหาพาร์ทเนอร์ที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับระบบความซับซ้อนและความหลากหลายในทุกระดับการใช้งานไม่ว่าเล็กหรือใหญ่นั้นเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างดีที่สุด ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาไอเดียทางธุรกิจเหล่านี้ต่างเคยถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง หากแต่ปัจจุบันเรื่องเช่นนี้ได้กลายเป็นตัวกำหนดผู้ชนะในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัล (ซอฟต์แวร์) คือตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นั่นเอง

.

ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ | สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

.

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.infosys.com/Oracle/white-papers/Documents/integrating-blockchain-erp.pdf

https://www.uih.co.th/th/knowledge/blockchain-is

https://www.peerpower.co.th/blog/invest/six-industries-apply-blockchain-technology-2018/

https://www.siambc.com/what-is-blockchain/

https://www.medium.com/kiptopotamus/blockchain

https://www.aommoney.com/stories/tarkawin/blockchain

https://www.siamblockchain.com/2017/06/04/blockchain

https://www.techtalkthai.com/introduction-to-blockchain-for-everyone-in-5-minutes/