บริการ
TH
EN
TH
CN

Coding ทักษะพื้นฐานในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล

โลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนเร็วขึ้นไปอีกด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล แม้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล จะมีความคุ้นเคยกับวิถีดิจิทัลและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เป็นอย่างดี แต่ ประเทศไทยและนานาประเทศก็ยังวางแผนเตรียมพร้อมความสามารถของเยาวชนในประเทศของตนเพื่อรองรับความต้องการของสายงานในอนาคต ด้วยการพัฒนาออกแบบหลักสูตรการศึกษาโดยมีวิชาคำนวณเป็นฐานราก

ในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ Coding เป็นหลักสูตรที่นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนอย่างเป็นทางการ (National Standards) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยวิชา Coding เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาการคำนวณที่บรรจุอยู่ในสาระเทคโนโลยี กลุ่มสาระเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1

คำว่า Coding อาจฟังดูเหมือนเป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์ขั้นสูง เข้าใจยาก แต่ที่จริงแล้ว Coding เป็นการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ และอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เช่น สัญญาณไฟจราจร ที่สีของสัญญาณไฟแต่ละช่วงมีเวลาไม่เท่ากัน ก็เกิดจากการกำหนดด้วยชุดคำสั่ง ซึ่งก็คือการ Coding อย่างหนึ่งนั่นเอง

เป้าหมายของวิชา Coding ที่จะสอนเด็กๆ ในห้องเรียนมุ่งเน้นให้นักเรียนฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ค้นเจอปัญหาและเงื่อนไข รู้เหตุและผล เข้าใจกระบวนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษใหม่ ทั้งนี้ สิ่งที่เด็กๆ ควรได้รับการเรียนการสอนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้น

ขั้นที่ 1: เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ว่าอัลกอริทึมคือขั้นตอนหรือลำดับการประมวลผลในการแก้ปัญหา ซึ่งการเรียนการสอนอาจจะไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เสมอไป โดยเด็กๆ สามารถเรียนรู้ชุดคำสั่งต่างๆ ได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัว เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเด็กๆ สามารถสร้างชุดข้อมูลหรือตนเองออกมาได้ และทำการพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลเชิงตรรกะเพื่อพัฒนาการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

ขั้นที่ 2: เริ่มสามารถสร้างและแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง สามารถจัดการกับแนวคิด รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผลลัพธ์ และยังคงพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ เรียนรู้การใช้เว็บไซต์หรือบริการอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ

ขั้นที่ 3: เริ่มพัฒนาการใช้ภาษาการเขียนเพื่อเขียนโปรแกรม โดยอาจจะมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือและภาษาในการเขียนโปรแกรมง่าย ๆ จากการใช้เครื่องมือและภาษาที่หลากหลาย เช่น C++, PHP และ Java ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงทำงานร่วมกันของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

การผลักดันของรัฐบาลในเรื่องวิชา Coding แม้จะใช้เวลาในการเริ่มต้นค่อนข้างนาน แต่ก็ยังไม่ถือว่าตกขบวนเพราะประเทศญี่ปุ่นเองก็พึ่งจะมีการบรรจุวิชาเขียนโค้ดขั้นพื้นฐานในหลักสูตรการศึกษา ไปเมื่อวันที่

26 มีนาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการสอนวิธีวาด Python บนดิจิทัล และการสร้างคำสั่งให้ไฟ LED กระพริบแบบง่ายๆ เป็นต้น เพื่อรองรับการคาดการณ์ที่ว่าประเทศจะเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี แต่หากเปรียบเทียบกับอีกหลายหลายประเทศเช่น เกาหลีใต้ ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและได้บรรจุวิชา Coding ให้เกิดการเรียนการสอนในชั้นประถมและมัธยมต้น ตั้งแต่ปี 2007 และประเทศอังกฤษที่บรรจุวิชาเขียนโปรแกรมในหลักสูตรสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5 - 16 ปี ตั้งแต่ปี 2014

ในประเทศไทยมีการขับเคลื่อนการเรียนการสอน Coding จากหลายหน่วยงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ที่ดำเนินโครงการยกระดับโรงเรียนสู่การเรียนรู้ด้าน Coding STEM IoT และ AI ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและยกระดับพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเยาวชนทั่วประเทศมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ Coding เช่น การส่งเสริมพัฒนาทักษะของครูผู้สอน การจัดอบรมการพัฒนาทักษะ Coding ให้แก่คนชราและคนพิการ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมต่อการเรียนการสอน Coding ในโรงเรียน

การให้ความสนใจของภาครัฐถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพื่อให้เด็กในวันนี้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในอนาคตของพวกเขา เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อเทคโนโลยีรุกคืบเข้ามาในชีวิตมากขึ้นทุกวัน การฝึกตัวเองให้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ออกคำสั่ง รู้จักการสื่อสารกับเครื่องมือดิจิทัลจึงเป็นทักษะที่ควรมีติดตัวเอาไว้ เพื่อให้เราไม่เป็นเพียงผู้ใช้งาน ที่ต้องหวาดระแวงตลอดเวลากับคำพูดที่ว่า “AI จะมาแทนที่ มนุษย์จะตกงาน” ในยุคที่ทุกอย่างในมือเป็นดิจิทัลแทบทั้งหมด การมองข้ามการพัฒนาทักษะและยินดีจำกัดตัวเองเป็นเพียงผู้ใช้งาน อาจทำให้สูญเสียโอกาสดีๆ ในอนาคต แม้จะไม่ได้เชี่ยวชาญถึงระดับ Programmer แต่ก็ควรเป็นผู้ใช้งานที่รู้เท่าทัน ใช้งานอย่างมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าแค่ function ทั่วไป

โดย นายพิพัฒน์ สมโลก

ฝ่ายนโยบายและยุทศาสตร์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก: