ปัจจุบันประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร จากข้อมูลของ กรมวิชาการเกษตร พบว่า ประเทศไทยมีแมลงที่สามารถทานได้ และอุดมไปด้วยสารอาหารตามธรรมชาติที่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น จิ้งหรีด แมลงดานา ดักแด้ไหม ตั๊กแตนปาทังกา หนอนเยื่อไผ่ และแมลงกินูน เป็นต้น (ดังภาพประกอบที่ 1) โดยประเทศไทยถือเป็นเจ้าแห่งตลาดในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก
ภาพที่ 1 ตัวอย่างชนิดของแมลงกินได้ (ที่มา: https://www.facebook.com/Wongnai/posts/3193951340622769)
การบริโภคแมลงในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ผู้คนหันมาบริโภคแมลงเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งในรูปแบบแมลงทอดและแมลงแปรรูป โดยข้อมูลจาก Food Navigator พบว่า กลุ่มผู้บริโภคแมลงจากประเทศไทย ประกอบไปด้วยประเทศแถบทวีปอเมริกา และทวีปยุโรป รวมถึงประเทศในแถบเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน เป็นต้น
โดยผลการวิจัย เรื่อง อาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารใหม่ (Novel Food) ระบุว่า “แมลง” เป็นแหล่งอาหารสำคัญในอนาคต และเป็นสุดยอดของแหล่งอาหาร (Super food) ประเภทโปรตีน มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม กรดอะมิโนที่จำเป็น 10 ชนิด ซิงค์ ธาตุเหล็ก วิตามิน B2 B12 โอเมกา 3 6 9 และไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียวที่สามารถช่วยปรับสมดุลในลำไส้ได้ นอกจากนี้แมลงปรุงสุกยังมีประโยชน์อีกมากมาย (ดังภาพประกอบที่ 2)
ภาพที่ 2 ประโยชน์ของแมลงทอด อาหารแห่งอนาคต (ที่มา: https://hellokhunmor.com/โภชนาการเพื่อสุขภาพ/เคล็ดลับโภชนาการที่ดี/แมลงกินได้-อาหารแห่งอนาคต-ประโยชน์/)
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ระบุว่า ตลาดแมลงโลกขยายตัวถึง 23.8% ระหว่างปี 2018-2023 คาดว่าในปี 2023 จะมีมูลค่าสูงถึง 37,900 ล้านบาท ขณะที่ตลาดส่งออกของไทย มูลค่า 1,000 ล้านบาท/ปี กำลังการผลิต 4,000 ตัน ส่งออกรูปแบบสด แช่เเข็ง และแปรรูปทอด/คั่ว ทั้งนี้ในบรรดาแมลงทั้งหมด “จิ้งหรีด” ถือว่าเป็น “ดาวรุ่ง” ขึ้นแท่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกมีทั้งรูปแบบแมลงสดและแมลงแปรรูป เช่น แมลงผง โปงตีนเชค โปรตีนบาร์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น (ดังภาพประกอบที่ 3)
ภาพที่ 3 จิ้งหรีดสด และจิ้งหรีดแปรรูป
(ที่มา: https://today.line.me/th/v2/article/NVBLLn)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบสำหรับตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง กว่า 20,000 ฟาร์ม การผลิตจิ้งหรีดรวมสูงกว่า 7,000 ตัน/ปี ส่งออกตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมกำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตโปรตีนจากแมลง หรือ “ฮับแมลงโลก” หรือผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลก ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาด ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อสนับสนุนฟาร์มจิ้งหรีด และอุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) ในการเจาะตลาดโลก 3,000 ล้านบาท/ปี
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ส่งเสริมให้แมลงเป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลก และยกให้จิ้งหรีดเป็นอาหารชนิดใหม่ของโลก เป็นโปรตีนสำรองในอนาคตที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน (sustainable) และให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่า หมู เนื้อ ไก่ และปลา หรือที่เรียกว่า Novel Food อีกทั้งจิ้งหรีดมีช่วงอายุการเพาะเลี้ยงไปจนถึงช่วงการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าสัตว์ชนิดอื่น และใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงน้อย ทั้งยังมีราคาถูก ลงทุนน้อย โปรตีนสูง เพาะเลี้ยงง่าย ลดการใช้ทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ดังภาพประกอบที่ 4) จิ้งหรีดจึงกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ในอนาคต
ภาพที่ 4 ประโยชน์ของจิ้งหรีด แมลงเศรษฐกิจ อาหารทางเลือกใหม่ (ที่มา: https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_4171438)
ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย เนื่องจาก จิ้งหรีด เป็นแมลงเศรษฐกิจที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูง ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นการยกระดับอาหารภูมิปัญญาพื้นบ้าน สู่ตลาดโลก ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงจะนำจิ้งหรีดมาประกอบอาหารด้วยการคั่ว ทอดขายตามท้องตลาด หรือแปรรูปด้วยการผลิตเป็นจิ้งหรีดอัดกระป๋องเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางการขาย โดยมีทั้งฟาร์มขนาดเล็กที่ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และฟาร์มขนาดใหญ่ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากเดิมที่เคยจับตามธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลงไป ด้วยปริมาณที่ได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเอง
สำหรับสายพันธุ์จิ้งหรีดที่นิยมนำมาเพาะเพื่อจัดจำหน่าย ประกอบด้วย พันธุ์ทองดำ ทองแดง และทองแดงลาย (แมงสะดิ้ง) สำหรับการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อายุ 30-40 วัน เพื่อแปรรูปและอีกกลุ่ม คือ เลี้ยงต่อให้ครบ 45-50 วัน เพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในการขยายพันธุ์ และเพิ่มผลผลิตในรุ่นต่อ ๆ ไป ทั้งนี้การเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม (ดังภาพประกอบที่ 5 วงจรชีวิตของจิ้งหรีด)
ภาพที่ 5 วงจรชีวิตของจิ้งหรีด (ที่มา: https://www.facebook.com/mcricketfarm)
โดยปัญหาหลักที่ผู้เลี้ยงมักพบเจอ เป็นเรื่องของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปแต่ละฤดูกาล โดยจิ้งหรีดเป็นแมลงที่ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้และความชำนาญในการดูแลจิ้งหรีดเป็นอย่างดี เนื่องจากจิ้งหรีดไม่สามารถทนต่ออากาศหนาวจัด ร้อนจัด หรือชื้นเกินไปได้ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้นจะส่งผลให้จิ้งหรีดเกิดอาการช็อค ไม่ออกไปกินอาหาร เริ่มป่วย และตายในที่สุด อีกทั้งด้วยความที่จิ้งหรีดเป็นแมลงที่กินอาหารตลอดเวลากลายเป็นว่าจิ้งหรีดตัวใหญ่ก็จะกินจิ้งหรีดตัวเล็กแทน รวมถึงจิ้งหรีดมีโอกาสป่วยเป็นโรคจากการติดเชื้อ หากระบบสุขอนามัยในโรงเลี้ยงไม่มีคุณภาพมากเพียงพอ
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “ฮับแมลงโลก” จึงได้มีหลายหน่วยงานทำการวิจัย ศึกษา ทดลอง ในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดอัจฉริยะ อาทิ “การทำฟาร์มจิ้งหรีดอัจฉริยะโดยใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นการประยุกต์ใช้ระบบ IoT มาช่วยในการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความแม่นยำในการบริหารจัดการฟาร์ม ช่วยให้จิ้งหรีดได้รับอาหารอย่างเหมาะสม และกระจายอาหารได้ทั่วถึงทั้งฟาร์ม โดยพัฒนา 3 ส่วนหลัก คือ ระบบการให้อาหารจากท่อ PVC ระบบการให้น้ำ และระบบควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน (ดังภาพประกอบที่ 6) รวมถึงสามารถสั่งการถ่ายภาพเพื่อแสดงผลผ่าน Line ได้
ภาพที่ 6 งานวิจัยระบบ “การทำฟาร์มจิ้งหรีดอัจฉริยะโดยใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ที่มา: https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/featkku/article/view/228513/164507)
ทั้งนี้ได้ทดลองด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีด 600 ตัว ด้วยวิธีการเดิม และอีก 600 ตัว ด้วยวิธีการใหม่ โดยนำระบบ IoT เข้ามาใช้ ผลการทดลองพบว่า ความเร็วที่เหมาะสมสำหรับการหมุนท่อ PVC เพื่อกระจายอาหาร คือ 71.5 รอบ/นาที และเมื่อเลี้ยงจิ้งหรีดครบ 30 วัน พบว่า จิ้งหรีดรอดชีวิตด้วยวิธีเดิม 450 ตัว และรอดด้วยระบบ IoT 530 ตัว น้ำหนักเฉลี่ยต่อตัวด้วยการเลี้ยงวิธีเดิม 0.65 +/- 0.18 กรัม และด้วยระบบ IoT 0.71 +/- 0.15 กรัม ดังนั้นเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ สามารถเพิ่มจำนวนจิ้งหรีดที่รอดชีวิต เพิ่มน้ำหนักจิ้งหรีดได้มากกว่าการเลี้ยงในรูปแบบเดิม เพิ่มรายได้จากการจำหน่ายจิ้งหรีด เพิ่มคุณภาพของจิ้งหรีด และช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาในการเดินมาให้อาหารให้น้ำ และลดการใช้แรงงานคนได้
นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สาขาภาคอีสานตอนกลางได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) โดยสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตจิ้งหรีดด้วยเทคโนโลยี สำหรับวิสาหกิจชุมชนแปรรูป (2019) น้ำเพียงดิน ตำบลโบสถ์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำและสายพันธุ์ทองแดงลาย (แมงสะดิ้ง) จำหน่ายตลาดในประเทศ ทั้งแปรรูป และไม่แปรรูป ประมาณ 400 กิโลกรัม/สัปดาห์ ซึ่งชุมชนมีความพร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยนำร่องเป็นระบบ IoT เข้ามาควบคุมอุณหภูมิในโรงเลี้ยงจิ้งหรีดและควบคุมการให้น้ำในโรงเลี้ยง (รายละเอียดเพิ่มเติม ดังภาพประกอบที่ 7) ที่สามารถบริหารจัดการการเลี้ยงจิ้งหรีดได้อย่างง่าย โดยควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน ช่วยให้การเลี้ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำรวมถึงสามารถเพิ่มคุณภาพจิ้งหรีด เพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ลดต้นทุนความเสียหาย รวมถึงลดต้นทุนในการผลิตได้เช่นกัน
ภาพที่ 7 ภาพกราฟิกองค์ประกอบ “โรงเลี้ยงจิ้งหรีดอัจฉริยะ พร้อมระบบควบคุมการเลี้ยง” โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตจิ้งหรีดด้วยเทคโนโลยี โดย วิสาหกิจชุมชนแปรรูป (2019) น้ำเพียงดิน ตำบลโบสถ์ (ที่มา: https://drive.google.com/file/d/1vRkZBhz7nkXB0jjmIsfSEZPC93qVEKkX/view?usp=sharing)
ซึ่งชุมชนมีความคาดหวังว่าการนำระบบเข้าใช้ในครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายจิ้งหรีดร้อยละ 40 และลดต้นทุนในการผลิตลงร้อยละ 30 โดยในอนาคตจะผลักดันชุมชนให้เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบและเกิดเป็น ศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้ที่สนใจในการเลี้ยงจิ้งหรีด สามารถเข้ามาศึกษา เรียนรู้ ทดลอง ว่าการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงจิ้งหรีดในตู้เลี้ยงอัจฉริยะที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเลี้ยงเป็นอย่างไร พร้อมจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากจิ้งหรีด เช่น จิ้งหรีดทอด จิ้งหรีดอบ ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากจิ้งหรีด เป็นต้น โดยสมาชิก ในชุมชนเป็นผู้ให้ข้อมูล ทั้งมีแพลนจะขยายบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดสายพันธุ์ทองดำ จาก 80 บ่อ ให้เป็น 200 บ่อในอนาคต และพัฒนาให้ได้รับมาตรฐาน GMP และมาตรฐานรับรองการส่งผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดออกต่างประเทศ
ภาพที่ 8 ภาพ before/after “โรงเลี้ยงจิ้งหรีดอัจฉริยะ พร้อมระบบควบคุมการเลี้ยง” โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตจิ้งหรีดด้วยเทคโนโลยี โดย วิสาหกิจชุมชนแปรรูป (2019) น้ำเพียงดิน ตำบลโบสถ์ (ที่มา: https://drive.google.com/file/d/1vRkZBhz7nkXB0jjmIsfSEZPC93qVEKkX/view?usp=sharing)
โดยศิริประภา ประภากรเกียรติ
สาขาภาคอีสานตอนกลาง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: