บริการ
TH
EN
TH
CN

"depa กับ ภารกิจกู้ชีพ SMEs ยุคดิจิทัล” depa and SME Transformation for the Digital Age

โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ “การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (The 4th Industrial Revolution) ว่ากันว่าเป็นยุคที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ และยังไม่มีใครสามารถประเมินผลกระทบและขอบเขตจากการปฏิวัติครั้งใหม่นี้ได้ ทุกภาคส่วนกำลังเผชิญหน้ากับคลื่นสึนามิของเทคโนโลยีทั้งทางกายภาพ ดิจิทัลและชีวภาพ ที่ไหลมาหลอมรวมกัน แม้ว่าจะสร้างศักยภาพที่มหาศาล แต่ก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้คนในทุกมิติ โลกเรากำลังเปลี่ยนไป และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เราเรียกว่า “Cyber physical world” กล่าวคือ จากโลกที่มนุษย์กับมนุษย์คุยกัน หรือมนุษย์คุยกับเครื่องจักร กลายมาเป็นยุคที่เครื่องจักรและสิ่งของต่างๆสามารถคุยกันได้ สามารถส่งผ่านและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับมนุษย์ได้ ด้วยพลังของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น IoT ,Sensor, Big Data, Cloud และอื่นๆ โดยเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งวิธีที่เราทำงาน การสื่อสาร และพฤติกรรมของมนุษย์

คลื่นของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล กำลังพลิกโฉมวิถีการดำรงอยู่และพฤติกรรมของผู้คนบนโลกใบนี้ จากข้อมูลของ We are Social เมื่อต้นปี 2561 พบว่าในจำนวนประชากรของโลกกว่า 7.6 พันล้านคน มีจำนวนกว่า 53% หรือประมาณ 4 พันล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และกว่า 68% หรือประมาณ 5.1 พันล้านคนที่มีโทรศัพท์มือถือติดตัว โดยฉพาะในประเทศไทยที่มีประชากรประมาณ 70 ล้านคนนั้น กว่า สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ถึง 82% และที่น่าสนใจคือมีการใช้งานมือถือกว่า 93,61 ล้านหมายเลข คิดเป็น 135% ของประชากรในประเทศ นั่นหมายถึง 1 คนมีเบอร์ติดต่อมากกว่า 1 หมายเลขหรือมือถือมากกว่า 1 เครื่องนั่น เอง นอกจากนี้ผลสำรวจ Thailand Internet User Profile 2018 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ยังพบว่าในปี 2561 คนไทยท่องอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยแล้ว 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน โดยมีกิจกรรม 5 อันดับแรกที่ทำคือ การท่อง Social Media (93,64%) รองลองมาคือ การรับส่งอีเมล์ (74.65%) การค้นหาข้อมูล (70.75%) การดูหนังฟังเพลง (60.72%) และการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ (51.28%) ตามลำดับ โดยคนไทยมีการทำกิจกรรมหลายอย่างก็ทำบนออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ อาทิ การส่งข้อความ การจองโรงแรม การจอง/ซื้อตั๋วโดยสารออนไลน์ การดูหนังฟังเพลง การอ่านหนังสือพิมพ์ การชำระค่าบริการ การสั่งอาหาร การเรียกแท็กซี่ และอื่นๆ ซึ่งมีการทำทั้งกิจกรรมและธุรกรรมออนไลน์มากกว่า 60% เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีสัดส่วนของออฟไลน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนในปัจจุบันมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ตัวเอย่างเช่น หากเราเป็นบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบิน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพื่อให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนจาการจองตัวผ่านเอเย่นต์เป็นจองโดยตรงผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น หากธุรกิจเหล่านี้โดยเฉพาะ SME ไทยไม่สามารถปรับตัวรองรับ ก็อาจจะถูกคลื่นของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงพัดหายไปจากระบบได้ในวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย SME ทั้งนี้จากข้อมูลของ สสว. ในปี 2559 พบว่าไทยมีจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดประมาณ 3 ล้านราย โดยในจำนวนนี้กว่า 99.7% เป็นผู้ประกอบการ SME และพบว่าถ้าดูเฉพาะในส่วน SME แล้ว กว่า 99.49% เป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก (SE) และมีเพียง 0.51% เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง โดย GDP ของ SMEs ในปี 2559 มีมูลค่าสูงถึง 6.06 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนกว่า 70.41% เป็น GDP ที่ได้มาจากวิสาหกิจขนาดย่อม (SE) อีกทั้งยังมีการจ้างงานในสถานประกอบการ SME กว่า 11.75 ล้านคน โดยเป็นสัดส่วนการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดย่อม (SE) ถึง 90.69% จะเห็นได้ว่าทั้งจำนวนและสัดส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว SME โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดเล็กมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ปัญหาในปัจจุบันพบว่า “ประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) น้อยเกินไป หรือ OECD เรียกว่า Missing Middle ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้ประสิทธิิภาพเป็นปัจจัยในการขับเเคลื่อนเศรษฐกิจ แสดงถึงการเป็นประเทศที่ใช้กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพเป็นจุดแข็งในการพัฒนาประเทศ และผลิตสินค้าแบบเน้นปริมาณ (Mass Production) จะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาและการลดต้นทุนการผลิตในด้านต่างๆเพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดได้”

จากข้อมูลการการเปลี่ยนแปลงของโลก พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค รวมถึงข้อมูลตัวเลขสถิติของ SME ในประเทศที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น หาก SME ไทยและรัฐบาลไทยไม่เตรียมรับมือกับคลื่นที่ถาโถมเข้ามาทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถพยุงภาวะเศรษฐกิจให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ และหาก SME ไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหรือวิเคราะห์ห่วงโซ่ของธุรกิจก็อาจจะไม่สามารถเติบโตต่อไปในโลกธุรกิจได้ ดังนั้นการวิเคราะห์ปัญหาและวางกลยุทธ์ของธุรกิจเพื่อเตรียมรับมือสู่ยุคดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อ SME ไทยเพื่อก้าวต่อไปในโลกธุรกิจ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในส่วนผู้ประกอบการของอุตสาหกรรมดิจิทัล (Supply Sdie)* แต่ในการที่จะสร้างผู้ประกอบการดิจิทัลให้เข้มแข็งได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้ดิจิทัล (Digital Adoption) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ รวมไปถึงกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ผู้ใช้ (Demand Side) ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ สังคมชุมชน วัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศ สามารถเข้าถึงและประยุกต์ใข้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม พอเพียงและพอประมาณต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุน SME ซึ่งถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยนั้น depa เน้นการส่งเสริมให้ SMEs ไทย ทั้งในภาคธุรกิจบริการ และภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถเข้าถึงและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจและเปลี่ยนผ่านธุรกิจในยุคที่ดิจิทัลเข้ามาปั่นป่วน (Disrupt) โลกในปัจจุบัน มีโอกาสการเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยผสมผลานทั้งกลไกความร่วมมือ กลไกลทางการเงิน และกลไกทางภาษีที่กระตุ้นให้ SMEs สามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอธิบายได้โดยคร่าวดังต่อไปนี้

  1. กลไกการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการประยุกต์ใช้ดิจิทัล เป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตร ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ Business Matching ระหว่าง Digital Providers/Startups และ SMEs รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายและยกระดับทักษะของที่ปรึกษาด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำต่อ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  2. ใกลไกทางภาษี depa ร่วมกับกรมสรรพกร ได้จัดทำมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs รายเล็ก (ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท) สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์ไปหักภาษีได้ 200% รายละเอียดูได้ที่ http://www.depa.or.th/th/tax200

  3. กลไกทางการเงินสนับสนุน SMEs ไทยในการประยุกต์ใช้ดิจิทัล

ปัจจุบัน depa มีกลไกส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ดังต่อไปนี้

depa ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อน SME ไทยให้สามารถเปลี่ยนผ่านความปั่นป่วนและสามารถเติบโตอยู่รอดได้ในยุคของการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมในการเกื้อกูลกันระหว่าง SME ด้านดิจิทัลและ SME ในธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ภายในประเทศ สร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจขนาดเล็ก (SE) เนื่องจากเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของประเทศ รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับ SE ก้าวสู่ ME ด้วยการยกระดับธุรกิจด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สุกัญญา ฉัตร์แก้วมรกต รักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

แหล่งอ้างอิง:

1.แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

2.แผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ.2561-2564 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

3.หนังสือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution) โดย เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum

4.หนังสือ “รู้ทันอนาคตที่ (อาจจะ) ไม่มีคุณ (The Industries of the Future) โดย Alec Ross อตีตที่ปรึกษา Hillary Clinton และ Barack Obama

5.“The Digital Transformation Playbook: Rethink your business for the digital age” by David L. Rogers, Columbia Business School Publishing.

6.ข้อมูล Thailand Internet User Profile 2018 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

7.รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2560 จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)