ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสิ่งที่ปรารถนาสูงสุดของทุกคนคือการมีสุขภาพที่ดี มีอายุที่ยืนยาว ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพได้ก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้ประชากรมีอายุที่ยืนยาวขึ้นและเกิดสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 10 หรือเรียกว่าสังคมผู้สูงอายุ
โครงสร้างด้านประชากรของประเทศไทยเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” (Aged society) ตั้งแต่ปี 2548 คือ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 10 และตามการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete aged society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super aged society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและกำลังก้าวสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาที่สำคัญคือ วัยทำงานจนถึงวัยสูงอายุ เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆทั้งโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี จึงเกิดความพยายามในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมการเกิดโรค การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองรวมถึงการสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งการดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรเอกชน
หนึ่งในความพยายามให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน ในการสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพของประชาชน การจัดทำมาตรฐานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้สะดวก คือ การร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สมาคมเฮลท์เทคไทย จัดทำ e-Health Open Data Platform หรือ ศูนย์รวมข้อมูลสุขภาพจากสถานพยาบาลและผู้ป่วย ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆภายใต้การได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยได้อย่างมีมาตรฐาน มีความเป็นส่วนตัว และมีความมั่นคงปลอดภัยสามารถต่อยอดจากข้อมูลให้เกิดบริการดิจิทัลด้านการแพทย์หรือสุขภาพได้
e-Health Open Data Platform เป็นหนึ่งในความพยายามให้เกิดสังคมสุขภาพดีด้วยดิจิทัลจากเดิมที่ข้อมูลสุขภาพนั้นผู้ป่วยเข้าถึงได้ยาก ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล เมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จะสอบถามประวัติการได้รับยา หรือ ผลการตรวจสุขภาพที่ผ่านมาจากสถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยมักจะให้ข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน หรือ ไม่ทราบข้อมูล ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ป่วยเอง
e-Health Open Data Platform มีจุดเด่นคือผู้ป่วยสามารถขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองในรูปแบบดิจิทัลผ่านเว็บไซต์และโมบายแอพพลิเคชั่น เช่น รายการยาที่ได้รับ ข้อมูลการแพ้ยาข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในรายการที่กำหนด เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจการทำงานของไต การตรวจการทำงานของตับ การตรวจไขมันในเลือด รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลกับอุปกรณ์สวมใส่หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วยการนับก้าว ความดันโลหิต และน้ำหนัก ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นความลับเฉพาะบุคคลไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นทราบ ผู้ป่วยสามารถแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบเมื่อเข้ารับการรักษาต่างสถานพยาบาล ช่วยลดโอกาสการเกิดการได้รับยาที่ผิดพลาด ช่วยติดตามแนวโน้มของสุขภาพจากผลตรวจสุขภาพ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบถึงการวัดค่าต่างๆของผู้ป่วยที่ตรวจวัดที่บ้านได้ คือ ความดันโลหิต การนับก้าว หรือน้ำหนักตัว
e-Health Open Data Platform ยังมีการจัดทำการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล โดยนำ บัญชีข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานของไทย TMT (Thai Medicines Terminology) ในการเชื่อมโยงข้อมูลยาและรหัสยามาตรฐานเดียวกัน และ รหัสมาตรฐานสากลที่ใช้ระบุชนิดของการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และการตรวจทางคลินิก LOINC (Logical Observation Identifiers Names and Codes) ในการเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ปัจจุบัน มีสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำร่องจำนวน 6 แห่ง คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคทรวงอก สถาบันทันตกรรม สถาบันโรคผิวหนัง และโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลดังกล่าว สามารถยื่นความประสงค์และลงนามในเอกสารเปิดใช้งานระบบ ซึ่งจะได้รับชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านในการเข้าสู่ระบบโดยคำนึงถึงพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลสูงสุด
e-Health Open Data Platform จะเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2561 ในรูปแบบเว็บไซต์ และโมบายแอพพลิเคชั่น และพร้อมเป็นระบบที่ต่อยอดให้บริการยังสถานพยาบาลอื่น ๆ ที่สนใจเข้าร่วม ทั้งนี้สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งมั่นผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าพัฒนาระบบจัดการข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ (National Health Information System : NHIS) ตามมาตรฐานระดับสากล และมุ่งหวังในการสร้างโอกาสให้ Health Tech Startup ได้เชื่อมต่อเข้าสู่ e - health Open Data Platform พัฒนาต่อยอดการให้บริการสุขภาพในรูปแบบที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน อันถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม e – health ของประเทศ และส่งเสริมสังคมสุขภาพดีด้วยดิจิทัลต่อไป