สถานการณ์โควิด 19 สร้างผลกระทบในการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน ส่งผลให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย จำเป็นต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด ตั้งแต่การอยู่บ้าน และลดการเดินทาง ส่วนภาคธุรกิจ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ธนาคาร ก็ต้องปรับตัว มีการเว้นระยะห่าง (Social distancing) การตรวจคัดกรอง การบันทึกการเข้าออก (Check in) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิตและการให้บริการไปจากเดิม ตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ประชาชนทุกคนได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจนกลายเป็นความปกติใหม่กันไปเรียบร้อยแล้ว และในปัจจุบัน ประชาชนกำลังเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตกันมากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ชีวิตวิถีถัดไป (Next Normal) ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด 19
ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นแนวทางที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตจากที่เคยออกจากบ้าน เพื่อไปทำงาน ไปโรงเรียน ต้องหันมาทำทุกอย่างอยู่ที่บ้าน เมื่อต้องออกจากบ้านก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรค ส่วนภาคธุรกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไปสู่ระบบซื้อขายและบริการผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า บนชีวิตวิถีใหม่มีการใช้บริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น มีแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล (Digital Service Platform) บนระบบออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ทำให้เข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยมีตัวอย่างชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้น ได้แก่ การ Work From Home การเรียนการสอนออนไลน์ การทำธุรกิจออนไลน์ การให้บริการทางการแพทย์แบบวิถีใหม่ และการท่องเที่ยววิถีใหม่ เป็นต้น
จากตัวอย่างชีวิตวิถีใหม่ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โควิด 19 เป็นตัวกระตุ้นเทรนด์ในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าให้เกิดเร็วขึ้น จนกลายเป็น“New Normal” โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่นำมาใช้ในการดำรงชีวิต การเรียน การทำงานอย่างแพร่หลาย ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้ เพื่อใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ เพื่อที่จะอยู่กับชีวิตวิถีใหม่ได้
ประเด็นที่เราต้องตระหนักต่อไป คือ การก้าวผ่านจาก “New Normal” ชีวิตวิถีใหม่ที่อยู่ร่วมกับโควิด ไปสู่ “Next Normal” ชีวิตวิถีถัดไปหลังโควิด เราจะต้องเตรียมพร้อม และปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะเพิ่มพูนรายได้ การยกระดับศักยภาพของธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
“Next Normal” หรือ ชีวิตวิถีถัดไป คือ การใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ของประชาชนทุกเพศทุกวัย หลังจากที่ได้ปรับตัวกับสถานการณ์โควิด 19 เพื่อความอยู่รอด จนเกิดความคุ้นชิน ทั้งวิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีสื่อสาร และวิธีปฏิบัติ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ศึกษารูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด 19 ที่ได้สะท้อนให้เห็นเทรนด์สำคัญๆ ในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดรับเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีเทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Next Normal ดังนี้
Stay-at-home Economy สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป บ้านจึงไม่ได้เป็นแค่ที่อยู่อาศัย แต่ยังกลายเป็นที่ทำงาน ห้องประชุม ห้องออกกำลังกาย หรือโรงภาพยนตร์ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ สามารถใช้งานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย เทรนด์ดังกล่าวก่อให้เกิดรูปแบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Stay-at-home Economy เช่น การพบปะสังสรรค์ผ่านแอปพลิเคชัน การทำธุรกิจ e-commerce การบริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน และการเลือกซื้อสินค้าผ่านประสบการณ์เสมือนจริง (Virtual Reality)
Touchless Society การดำเนินชีวิตในโลกยุค Next Normal จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการสัมผัส ยกตัวอย่างเช่น ระบบการจัดส่งสินค้าแบบ Non-contact delivery ระบบประตูอัตโนมัติในพื้นที่สาธารณะ รูปแบบการจ่ายเงินแบบ e-payment รวมทั้งการออกแบบพื้นที่ธุรกิจที่สามารถให้บริการลูกค้าแบบปราศจากการสัมผัสใดๆ แต่จะใช้เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง (Voice recognition) หรือจำลองโลกเสมือนจริง (Augmented reality) แทน
Regenerative Organic ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นหัวใจสำคัญของโลกยุค Next Normal ดังนั้น เทรนด์หนึ่งที่จะฉายภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ คือ มาตรฐานสินค้าเกษตรที่เรียกว่า Regenerative Organic ซึ่งไม่เพียงต้องปลอดสารพิษและปราศจากการใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมาตรฐาน คุณภาพดิน การคุ้มครองสัตว์ คุณภาพชีวิตเกษตรกร ความยุติธรรมด้านค่าแรง รวมถึงระบบฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
นอกจากมุมของการใช้ชีวิตประจำวันของภาคประชาชนแล้ว ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ยังได้เตรียมพร้อมและปรับตัว เพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยกตัวอย่างการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมการเงินบนสมาร์ทโฟน ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยไม่ผ่านตัวแทนจำหน่าย การใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ การใช้ระบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) เป็นต้น ซึ่งนอกจากการปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยังได้มองถึงแนวทางการปรับลดค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดจำนวนแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ (Low Skill) และกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labour) และแม้กระทั่งภาคเกษตรกรรม ก็ได้มีการเตรียมพร้อมและปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต หรือที่เรียกว่า “เกษตรแม่นยำ” หรือ “Precision Farming” กันมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าการก้าวผ่านจาก “New Normal” ไปสู่ “Next Normal” จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ประชาชนทุกเพศทุกวัย และทุกภาคส่วน ต้องเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต และการดำเนินธุรกิจ (Digital Transformation) ยกตัวอย่างเช่น การเรียนออนไลน์ นอกจากนักเรียน นักศึกษาแล้ว คนวัยทำงานยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะ (Upskill & Reskill) เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น การทำธุรกิจออนไลน์ ภาคธุรกิจจะโฟกัสเฉพาะ Core Business ส่วนงานสนับสนุนจะเป็นการใช้ Out Source หรือการ Share Service รวมทั้งการใช้โปรแกรมจัดการธุรกิจและเครื่องมือดิจิทัลเพื่อลดต้นทุน
การก้าวผ่านจาก “New Normal” ไปสู่ “Next Normal” ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม รวมทั้งมีทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน (Digital Literacy) และเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญกับความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) และการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Platform) ในการพัฒนาธุรกิจและการให้บริการ
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการก้าวผ่านจาก “New Normal” ไปสู่ “Next Normal” และเป็นการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจากสถานการณ์โควิด 19 แต่การฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและสังคมของทุกคนในประเทศ ในการรับมือสถานการณ์โควิด 19 อย่างมีสติ “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก”
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะมีความเสี่ยง และยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 แต่ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อว่าประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และมีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของคนในประเทศ เหมือนกับช่วงที่เคยเกิดวิกฤตครั้งต่างๆ ในอดีต และในช่วงนี้ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อป้องกัน และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด 19 และยังเป็นโอกาสในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัลของประเทศอีกด้วย
โดย นายเสกสันต์ พันธุ์บุญมี
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิง