พลวัตของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง ส่งผลกระทบอย่างมาก
ต่อวิถีชีวิต รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทย ในปัจจุบันยังขาดแคลนการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของตน ต่างจากภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีหลากหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ผลิตเกิดความสับสนในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สังเกตได้จากผลการสำรวจโครงการ Thailand Driving Towards Industry 4.0 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ได้สำรวจความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรม 6 อุตสาหกรรม ซึ่งพบว่า อุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระจุกตัวอยู่ที่ 1.0 – 2.0 หมายถึง ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ส่วนใหญ่ยังคงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างง่ายหรือยังใช้แรงงานเป็นหลักในการผลิต

IoT หรือ Internet of Things (อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) หมายถึง อุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยมีการฝังตัวของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งวัตถุสิ่งของเหล่านี้ สามารถเก็บบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ อีกทั้ง สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมและถูกควบคุมได้จากระยะไกล ผ่านโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2558 มูลค่าตลาดอาหารในประเทศคิดเป็น 1.43 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0-5.0 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 1.49 ล้านล้านบาท ซึ่งสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สำหรับประเภทโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่มีจำนวนมาก ได้แก่ การแปรรูปสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ การผลิตน้ำมันพืช การผลิตเครื่องปรุงรส การแปรรูปเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ รวมถึงการแปรรูปผลไม้และผัก ตามลำดับ
บทความนี้นำเสนอตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT กับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปจากการศึกษาของบริษัท Infor ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทย ได้มีไอเดียในการเลือกนำเอาเทคโนโลยี IoT ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- การศึกษาของบริษัท Infor พบว่าการใช้ IoT ในฟาร์มเพาะปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยในขั้นตอนของการปลูกนั้น การเพิ่มผลผลิตเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ เราจำเป็นที่จะต้องนำเอาเทคโนโลยี Sensor IoT ด้านต่าง ๆ เข้ามาใช้ เช่น Sensor ในการตรวจสอบสภาพอากาศ Sensor ตรวจสอบระดับความชื้นของดินและความชื้นในทุ่งนา ที่จะช่วยให้สามารถกำหนดเวลาและสถานที่ที่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย และ Sensor การเปิด - ปิดน้ำเข้าทุ่งนาแบบอัตโนมัติ ในการที่เพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน เป็นต้น โดยเครื่องมือเหล่านี้จะเข้ามาช่วยทำให้เกษตรกรไม่ต้องคาดเดาในการจัดการกระบวนการและทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตพืชต่อไร่ ได้สูงมากขึ้นด้วย
- การใช้เทคโนโลยี IoT ในฟาร์มปศุสัตว์ในสหรัฐอเมริกา จำเป็นที่จะต้องมีระบบ Sensor สามารถตรวจสอบน้ำหนักของฝูงสัตว์และสัญญาณสุขภาพของฝูงสัตว์ต่าง ๆ ได้เช่น การผลิตนมในโคนม การใช้ Sensor และตัวจับเวลาสามารถทำให้วงจรการให้อาหารเป็นไปโดยอัตโนมัติ ทำให้สามารถควบคุมอาหารของสัตว์ได้ตามต้องการ นอกจากนี้ ข้อมูลจากการศึกษายังพบว่าเรายังสามารถใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเข้ามาช่วยในด้านการผสมพันธุ์สัตว์ ที่จะได้รับประโยชน์จากการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น การควบคุมอุณหภูมิในโรงเพาะฟักไข่ไก่ ที่มีการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ และการระบายอากาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฝักไข่ไก่เกือบทั้งสิ้น
- การติดตั้งเทคโนโลยี IoT ในรูปแบบอุปกรณ์อัจฉริยะในไร่หรือสวนปลูกพืช เกษตรกรในสหรัฐอเมริกาใช้อุปกรณ์ IoT ในการติดตามการปลูกพืชด้วยระบบ GPS เพื่อช่วยให้ทุกอย่างที่ปลูกในไร่ มีการปรับปริมาณการจ่ายน้ำให้เหมาะกับพืชแต่ชนิด ตามตำแหน่งที่ถูกกำหนดไว้ใน GPS นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ Drone และเทคโนโลยี GPS เพื่อการตรวจสอบสภาพแปลงเพาะปลูกได้จากระยะไกล
- การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ด้าน IoT เมื่อมีการติดตั้ง Sensor ต่าง ๆ ให้ฝังอยู่กับเครื่องจักรในฟาร์ม เพื่อใช้ในการตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องจักรและตรวจจับสัญญาณเตือนล่วงหน้าต่าง ๆ และใช้ในรูปแบบการจัดการกับระบบป้องกัน ดังนั้นการมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงติดตั้งในฟาร์ม เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในขั้นตอนการวิเคราะห์ และเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนความปลอดภัยของผลผลิตในฟาร์ม ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการตลอดจนซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เทคโนโลยี IoT นอกจากจะใช้ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้แล้ว อุปกรณ์ Sensor เหล่านี้ ยังสามารถแจ้งเตือนให้เกษตรกรทราบว่า ถึง วัน เวลา ที่จะต้องซ่อมบำรุงอุปกรณ์ได้อีกด้วย
- การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยเทคโนโลยี IoT ฟาร์มต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากการติดตั้งและตรวจจับข้อมูลด้วย Sensor เพราะข้อมูลต่าง ๆ จะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เชิงคาดการณ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นได้ เพราะข้อมูลจาก Sensor เหล่านี้ จะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่ต้องดำเนินการในอนาคต เพื่อที่จะทำให้ฟาร์มสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มผลกำไรได้มากขึ้น แนวโน้มข้อมูลที่รวบรวมจาก Sensor สามารถใช้เพื่อระบุสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น เมื่อ Sensor การตรวจสอบสภาพอากาศพบว่า อากาศหนาวผิดปกติ เกษตรกรก็จะสามารถทราบได้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพของฝูงสัตว์ที่อาจล้มตายลงได้
และเมื่อเกษตรกรสามารถตรวจพบข้อมูลที่ผิดปกติ ได้จาก Sensor ที่ทำให้ทราบถึงปัญหาได้เร็วขึ้น เกษตรกรก็ย่อมสามารถหาวิธิการแทรกแซงหรือป้องกันความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การใช้อุปกรณ์ IoT กับอาหารบนโต๊ะ จากปลายด้านหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน คือ ตั้งแต่ระดับผู้ผลิตไปจนถึง ผู้บริโภค หากเรามองกันอย่างกว้าง ๆ แล้ว เทคโนโลยี IoT โดยพื้นฐานแล้ว มันเป็นแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีฝัง Sensor เพื่อจับวิเคราะห์และส่งข้อมูลปริมาณมากจากแหล่งข้อมูลทุกประเภท ตัวอย่างเช่น การใช้ Smart Label ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถ ตรวจสอบข้อมูลของสินค้าที่วางขายอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ต ว่าสินค้านั้นผลิตจากผู้ผลิตรายใด และมีเส้นทางการเดินทางจากฟาร์ม มาสู่โต๊ะอาหารได้อย่างไร ซึ่งการใช้เทคโนโลยี IoT จะช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หลายพันรายการได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
- การแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี IoT ทำให้ผู้บริโภคสามารถทราบได้ถึง ประวัติของผลิตภัณฑ์ รวมถึง ส่วนผสมต่างๆ ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ผลิตสามารถแจ้งข้อมูลให้กับผู้บริโภคได้ทราบ เพียงแค่ผู้บริโภค สแกน QR Code ที่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์เท่านั้น ผู้บริโภค ก็จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ จำนวนมาก เช่น โภชนาการในผลิตภัณฑ์ หรือ ส่วนผสมสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ของผู้บริโภค ตลอดจนคำแนะนำในการบริโภคผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงระบบการจัดการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ได้ว่า จะมีการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากปริมาณข้อมูลต่าง ๆ มากจนไม่สามารถบรรจุไว้ในฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภค สามารถได้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างครบถ้วนผ่านหน้าเว็บไซต์ที่ผู้ผลิตได้จัดทำขึ้น
- การนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจะช่วยทำให้ ผู้ผลิตสามารถคาดการณ์จำนวนผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด และนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประเมินและวางแผนในการปล่อยสินค้าเข้าสู่ตลาดในปริมาณที่เหมาะสม ที่จะทำให้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งในอดีตการส่งผลผลิตจำนวนมากออกมาในตลาด ก่อให้เกิดปัญหาความเสียหายของสินค้าและต้นทุนในการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก การนำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้ ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จะทำให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดปริมาณและราคา ช่วยไม่ให้เกษตรกรต้องเสียหายเป็นจำนวนมากจากการที่มีผลผลิตล้นตลาด
- เทคโนโลยี IoT กับการปฏิบัติตามข้อกำหนดและความปลอดภัยของอาหารที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การนำเทคโนโลยี IoT มาใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้มีความมั่นใจในเรื่องของข้อกำหนดและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเป็นสินค้าปลอม เพราะเทคโนโลยี IoT จะเข้ามาช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถติดตามและตรวจสอบเส้นทางของผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึง การเป็นสินค้าที่พร้อมรับประทานของผู้บริโภค อีกทั้งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าที่ได้รับนั้น ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องและปลอดภัยตามมาตรฐานของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร
- การนำเอาเทคโนโลยี IoT มาใช้ในโรงงานอาหารแปรรูป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงาน เพราะการติดตั้ง Sensor ต่างๆเข้าไปในโรงงานนั้น Sensor จะทำหน้าที่เพียงส่งข้อมูล เพื่อไปจัดเก็บไว้ในระบบเท่านั้น แต่หากขาดการนำเอาข้อมูลเหล่านั้น ไปใช้วิเคราะห์และประมวลผลแล้ว ข้อมูลทั้งหมดย่อมไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการได้ ดังนั้นผู้ผลิต จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานโดยเฉพาะในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ซึ่งผู้ผลิต อาจต้องลงทุนสูงในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อพนักงาน มีทักษะและความสามารถในการวิเคราะห์แล้ว พนักงานเหล่านั้น ย่อมที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้คุ้มค่าหรือมากกว่า จำนวนเงินลงทุนที่ต้องใช้ไปอย่างแน่นอน
ตัวอย่างจากการศึกษาของบริษัท Infor ที่ยกมาข้างต้น คงจะพอเป็นไอเดียให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทย ได้นำเอาเทคโนโลยี IoT ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของตนเอง เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดีการพัฒนาระบบ IoT แม้มีข้อดีมาก แต่ก็มีข้อเสียบางประการที่ผู้ประกอบการและพนักงานควรรับทราบ ได้แก่ (1) อุปกรณ์มีราคาสูงและมีอายุการใช้งานที่จำกัด (2) อุปกรณ์ยังคงพึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อส่งข้อมูลระหว่างกัน (3) หากมีข้อผิดพลาดระบบยังคงพึ่งพามนุษย์ในการแก้ไข และ (4) ทำให้เกิดการจ้างงานลดลง เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่การทำงานของคนเพื่อลดความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) และเพิ่มศักยภาพการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าการจ้างงานในอนาคตบางตำแหน่งจะลดลงเรื่อย ๆ และอาจเกิดภาวะเลิกจ้างในที่สุด ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากรัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ดังนั้น เจ้าของกิจการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ควรศึกษาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นเพื่อปรับตัวให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในยุคที่ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
โดย นายฎนุพล อ่วมพิทยา
ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: