บริการ
TH
EN
TH
CN

การคาดการณ์อนาคต (Foresight) กระบวนการสำหรับการพัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะ

ในการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือที่เรียกว่าการวางแผนเมืองนั้น มีแนวทางที่หลากหลาย ทั้งในวิธีการทางปริมาณและคุณภาพ ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญและความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ของเมือง โดยในปัจจุบัน ได้มีการแนะนำกระบวนการอย่างหนึ่ง เรียกว่าการคาดการณ์อนาคต (Strategic Foresight) ซึ่งได้มีการแนะนำโดยสมาคมนักวางแผนเมืองอเมริกัน (American Planning Association: APA) ได้มีการนำเสนอกระบวนการวางแผนเมืองโดยการคาดการณ์อนาคต นอกจากนั้น ยังมีเอกสารทางวิชาการหลายฉบับที่มีการตีพิมพ์บทความในเรื่องของการนำการคาดการณ์อนาคตนี้มาใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยการคาดการณ์อนาคตในพื้นที่เมือง และกำหนดเป้าหมายจากการพัฒนาเมือง จากนั้นจึงเลือกเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเพื่อมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองไปสู่เป้าหมายในอนาคตที่วางไว้

อะไรคือการคาดการณ์อนาคต

การคาดการณ์อนาคต (Strategic Foresight) มีการนำมาใช้ตั้งแต่ในช่วงปี 1950s สำหรับการสร้างภาพอนาคต (Scenario) ทางด้านการทหารของสหภาพโซเวียตโดย Herman Kahn เพื่อจัดเตรียมยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น จากนั้นจึงได้มีการนำมาปรับใช้ในธุรกิจชั้นนำของโลก และได้มีการนำไปใช้ในประเด็นทางด้านนโยบายสาธารณะ การวางผังเมือง หรือด้านอื่นๆ อีกมากมาย

สมาคมการวางผังเมืองอเมริกัน (American Planning Association: APA) กำหนดนิยามของการคาดการณ์อนาคตที่นำมาใช้ในการออกแบบหรือการวางแผนเมืองว่าหมายถึง วิธีการวางแผนที่มุ่งตอบสนองต่ออนาคตของเมือง ดังนั้น จึงต้องมีความเข้าใจปัจจัยภายนอกที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นขับเคลื่อน โดยเมืองต้องมีการวางแผนรับมือกับสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย ซึ่งการปรับใช้การคาดการณ์อนาคตนี้มีลักษณะเป็นวัฏจักร ที่ควรจะบูรณาการเข้าสู่กระบวนการพัฒนาแผนเมืองให้เกิดความคล่องตัวและยกระดับการดำเนินงานของเมืองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างพลวัตของเมือง

สำหรับความเชื่อมโยงของ Smart City กับการคาดการณ์อนาคตนั้น Szpilko, D. (2020) ระบุว่าการคาดการณ์อนาคตเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผน และดำเนินการตามวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งใช้วิธีการคาดการณ์อนาคตมาวิเคราะห์แนวโน้มสำคัญ (Megatrend) การวิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis) การวิเคราะห์โครงสร้าง การสร้างวิสัยทัศน์ และการสร้างภาพจำลอง (Scenario) เพื่อหาแนวทางในการพัฒนายุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ ให้เกิดเป็นแผนงานที่สามารถนำไปปฏิบัติจริง และพร้อมรับกับปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการวางดำเนินการจริง

สำหรับกรณีของการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis) Fernandez-Guell และคณะ (2016) ได้แบ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะโดยพิจารณาปัจจัยออกเป็น 6 มิติ ได้แก่ มิติทางสังคม มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางด้านผังเมือง มิติทางด้านเทคโนโลยี มิติทางด้านการบริหารจัดการ และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นความท้าทายตามมิติต่างๆ ดังภาพ


ภาพที่ 1 ปัจจัยการวิเคราะห์ภาพอนาคตในการพัฒนาเมือง (ที่มา: Fernandez-Guell et al., 2016)

จากประเด็นตัวอย่างที่ได้มีการนำเสนอมานี้ จะเห็นว่าประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาในการพัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะที่ควรจะเป็นประเด็นต้นแบบสำหรับให้เมืองในประเทศไทยที่ต้องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ โครงการ เทคโนโลยี รวมไปถึงใช้ในการกำหนดตัวชี้วัดเชิงผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ สำหรับให้เมืองนำไปดำเนินการตามแผนที่ได้กำหนดขึ้น

การปรับใช้การคาดการณ์อนาคตในการวางแผนเมือง

ในการปรับใช้การคาดการณ์อนาคตในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Szpilko และคณะ (2020) ได้นำเสนอขั้นตอนในการนำการคาดการณ์อนาคตมาใช้ในการวางแผนเมืองอัจฉริยะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลักโดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ปัจจัย (STEEPVL) และหลักการวิเคราะห์โครงสร้าง (Structural Analysis) โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์แนวโน้มและประเด็นปัญของเมืองใน 7 มิติ (STEEPVL Analysis) ได้แก่ มิติทางสังคม มิติทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ การเมือง คุณค่าของเมือง และกฎหมาย/กฎระเบียบ ซึ่งแนวทางในการวิเคราะห์อาจจะต้องมีการระดมสมองจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือการสอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงประเด็นปัญหาเพื่อสร้างข้อมูลฐาน สำหรับการพัฒนาเมือง

ขั้นตอนที่ 2 การจัดลำดับความสำคัญ หรือการเลือกปัจจัยทั้ง 7 มิติที่จะต้องนำมาเป็นประเด็นในการพัฒนา หรือแก้ไขก่อน - หลัง ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องมีการสำรวจความต้องการของประชาชนในเมือง หรือจัดการประชาคมกับประชาชนในเมืองว่ามีความต้องการอย่างไร

ขั้นตอนที่ 3 การประเมินและคาดการณ์ การดำเนินงานกับระยะเวลาที่มีในแต่ละช่วงแผนงานเพื่อกำหนดภาพของเมืองในระยะเวลาที่มีว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งจะต้องมีการประชาคมร่วมกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียใจพื้นที่

ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดกิจกรรม และเครื่องมือที่ใช้ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญ และขั้นตอนก่อนหลังของกิจกรรมที่จะมีการดำเนินการในเมือง เพื่อนำเสนอให้ประชาชน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นชอบแผนงานที่ได้มีการกำหนดขึ้น

ขั้นตอนที่ 5 กำหนดบทบาท หน้าที่ กระจายความรับผิดชอบให้กับหน่วยงาน และภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางการรับมือกับความไม่แน่นอนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะใช้ปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปัจจัยภายนอกที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ภายใต้แนวทางการดำเนินงานทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ ยังมีแนวทางการดำเนินงานย่อยในแต่ละขั้นตอนที่เมืองจะต้องพิจารณานำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบท ขั้นตอน กฎระเบียบของเมืองเอง ซึ่งสิ่งที่เมืองจะต้องพิจารณาเป็นอย่างมาก คือการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียของเมืองได้เข้ามาร่วมตัดสินใจในภาพอนาคตเอง และการดำเนินงานของเมืองควรที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ ตามที่ความสามารถ และทรัพยากรของเมืองพร้อมในการดำเนินการในแต่ละช่วงเวลา

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้การคาดการณ์อนาคตในการวางแผนเมือง

จากที่ได้อธิบายแนวทางการนำการคาดการณ์อนาคตมาปรับใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนั้น ซึ่งหากเมืองสามารถนำไปปรับใช้ในการวางแผนและดำเนินการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คาดว่าจะได้รับประโยชน์ดังต่อไปนี้

  1. มีกรอบในการวิเคราะห์สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในแต่ละมิติของปัจจัยเมืองต่างๆ
  2. มีแนวทางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีความชัดเจน และสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน และกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่
  3. มีแผนงาน และกรอบกิจกรรมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ชัดเจนในแต่ละกรอบเวลาการดำเนินงาน
  4. สามารถกำหนดกรอบการใช้ทรัพยากรและงบประมาณในการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และช่วงเวลาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
  5. มีกรอบการกำกับ ติดตาม และประเมินผลที่ชัดเจน สามารถแสดงประสิทธิผล และประสิทธิภาพต่อสังคมได้อย่างโปร่งใส

โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับนี้ จะช่วยให้เมืองสามารถพิจารณาแผนงานสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในประเด็นต่างๆของเมืองทั้ง 6 ประเด็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อให้เมืองสามารถแสดงประสิทธิผล และประสิทธิภาพของการดำเนินงานในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ การคาดการณ์อนาคตนี้ ก็มีประโยชน์ต่อ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ที่จะต้องดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาฯ เมืองอัจฉริยะเช่นกัน โดยการส่งเสริมดำเนินการในลักษณะของการส่งเสริมเชิงรุกคือ การเตรียมมาตรการ การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อหรือพร้อมรับโอกาสที่จะมาในอนาคต ดังนั้นเครื่องมือ การคาดการณ์อนาคต (Strategic foresight) นี้จึงอาจจะมีประโยชน์ในการทำงานด้านการส่งเสริมควบคู่กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด หรือระดับประเทศ

โดย ธนาคม วงษ์บุญธรรม

ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก

  • Crews, Ch., Farrington, T., and Schlehuber, L. 2017. The Innovation Leader’s Practical Guide to STRATEGIC FORESIGHT. A Rockwell Automation Company.
  • American Planning Association (APA). 2021. Planning with Foresight. APA Advisory Service Quicknotes. Access.
  • Szpilko, Danuta. 2020. "Foresight as a Tool for the Planning and Implementation of Visions for Smart City Development" Energies 13, no. 7: 1782. https://doi.org/10.3390/en13071782
  • Fernández-Güell, José & Collado-Lara, Marta & Guzman, Silvia & Fernández Áñez, Victoria. 2016. Incorporating a Systemic and Foresight Approach into Smart City Initiatives: The Case of Spanish Cities. Journal of Urban Technology. 23. 1-25. 10.1080/10630732.2016.1164441.
  • Szpilko & Ewa Glinska & Joanna Szydlo, 2020. "STEEPVL and Structural Analysis as a Tools Supporting Identification of the Driving Forces of City Development," European Research Studies Journal, European Research Studies Journal, vol. 0(3), pages 340-363.