แม้ความพิการจะถูกนิยามด้วยคำเรียกที่หลากหลาย ทั้งภาวะบกพร่อง (Impairment) ภาวะทุพพลภาพ (Handicap) หรือภาวะด้อยโอกาส (Disability) ตามรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละคำ แต่ทุกคำกลับมีความหมายที่บ่งบอกถึงความแตกต่างอันด้อยกว่าคนทั่วไปทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับการประกอบอาชีพที่ไม่ว่าจะเป็น คนขายลอตเตอรี่ หมอนวดแผนโบราณ แรงงานไร้ฝีมือ หรืออาชีพรับจ้างอิสระทั่วไป มักถูกแปะป้ายว่าเป็นอาชีพทำมาหากินเฉพาะของคนพิการส่วนใหญ่ รวมถึงการสงวนงานบางประเภทให้เฉพาะคนพิการเท่านั้น ด้วยมายาคติเหล่านี้ยิ่งส่งเสริมให้คนพิการถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสองที่ต้องรอเพียงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และถูกมองข้ามศักยภาพอื่น ๆ ที่จะสามารถสร้างรายได้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัวขั้นพื้นฐานทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม เพียงเพราะความพิการอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เกิดขึ้นกับตนเอง มีเพียงคนพิการบางส่วนเท่านั้นที่ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดและมายาคติข้างต้น ไปสู่การมีอาชีพตามศักยภาพและความต้องการของตัวเอง
แม้ความพิการจะถูกนิยามด้วยคำเรียกที่หลากหลาย ทั้งภาวะบกพร่อง (Impairment) ภาวะทุพพลภาพ (Handicap) หรือภาวะด้อยโอกาส (Disability) ตามรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละคำ แต่ทุกคำกลับมีความหมายที่บ่งบอกถึงความแตกต่างอันด้อยกว่าคนทั่วไปทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับการประกอบอาชีพที่ไม่ว่าจะเป็น คนขายลอตเตอรี่ หมอนวดแผนโบราณ แรงงานไร้ฝีมือ หรืออาชีพรับจ้างอิสระทั่วไป มักถูกแปะป้ายว่าเป็นอาชีพทำมาหากินเฉพาะของคนพิการส่วนใหญ่ รวมถึงการสงวนงานบางประเภทให้เฉพาะคนพิการเท่านั้น ด้วยมายาคติเหล่านี้ยิ่งส่งเสริมให้คนพิการถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสองที่ต้องรอเพียงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และถูกมองข้ามศักยภาพอื่น ๆ ที่จะสามารถสร้างรายได้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัวขั้นพื้นฐานทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม เพียงเพราะความพิการอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เกิดขึ้นกับตนเอง มีเพียงคนพิการบางส่วนเท่านั้นที่ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดและมายาคติข้างต้น ไปสู่การมีอาชีพตามศักยภาพและความต้องการของตัวเอง
โอกาสด้านการเรียนรู้
ประชากร 1 ใน 6 ของประชากรโลกเป็นคนพิการ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านคน ส่วนหนึ่งมีความพิการมาตั้งแต่กำเนิดหรือเริ่มแสดงอาการของความพิการในวัยเด็ก สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนจึงเป็นสังคมแรกที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและข้อจำกัดของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของคนพิการ ความพร้อมของเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเข้ามาปิดช่องว่างการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอุปสรรคให้แก่คนพิการในการเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
Screen Reader เป็นซอฟต์แวร์เลื่อนอ่านหน้าจอที่แสดงผลเป็นบทความ รูปภาพ หรือปุ่มไอคอน ที่ช่วยเหลือคนพิการทางสายตาในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเลต เป็นต้น
Text-to-Speech (TTS) เป็นเทคโนโลยีการแปลงข้อความออกมาเป็นเสียงพูด เพื่ออำนวยความสะดวกกับ
ผู้มีปัญหาทางการมองเห็น ซึ่งจะใช้ร่วมกับ screen reader ในการแสดงผลตัวอักษรข้อความเป็นเสียงพูดในภาษาต่าง ๆ
Speech Recognition เป็นเทคโนโลยีการแปลงเสียงพูดกลับเป็นข้อความ หรือเรียกว่า Speech-to-Text (STT) เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาหรือผู้ที่ไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวใช้เสียงพูดแทนการพิมพ์ (Voice Recognition/Speech Generation) หรือในกรณีที่ทำให้ผู้สูญเสียการได้ยินสามารถเข้าใจเนื้อหาของการสื่อสารได้ โดยใช้ร่วมกับ Closed-Caption (cc) หรือข้อความบรรยาย (subtitle) และ real-time cc เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาในรูปแบบตัวอักษร เช่น การบรรยายข้อความในภาพยนตร์หรือขณะการประชุมออนไลน์ เป็นต้น
เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงกลุ่มคนพิการที่นับว่ามีจำนวนไม่น้อยในสังคม ให้ได้รับความรู้และข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของโลกตามสิทธิพึงมีอย่างเท่าเทียม จึงเป็นโอกาสที่สำคัญให้คนพิการได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มความสามารถ เข้าถึงเนื้อหาความรู้ที่ตนเองสนใจได้อย่างมีอิสระ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เฉกเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบตามที่ถูกป้อนให้โดยสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนเฉพาะทางแบบเดิม
โอกาสด้านการทำงาน
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจนราวกับว่าการอยู่นิ่ง
ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นเป็นการเดินถอยหลังเสียแล้ว หรือแม้แต่การก้าวไปข้างหน้า ด้วยความเร็วที่ไม่เพียงพอก็กลายเป็นคนตกยุคไปเช่นกัน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นการปฏิวัติระบบอัตโนมัติให้เชื่อมต่อสื่อสารอย่างก้าวกระโดด มีเทคโนโลยีใหม่มาทดแทนแรงงานของมนุษย์ไม่เพียงแค่เทียบเท่าแต่ทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่า ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าใครก็ตามจำเป็นที่จะต้อง upskill/reskill เพื่อให้ตนเองยังคงมีความสามารถที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ คนพิการเองก็เช่นเดียวกัน แม้แต่เดิมงานในโลกทางกายภาพ (Physical World) จะมีแนวโน้มว่า คนพิการมักประกอบอาชีพเป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือเป็นแรงงานที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่โลกยุคดิจิทัลนั้นแตกต่างออกไป โลกกึ่งเสมือนในปัจจุบันหรืออนาคตของ Metaverse ที่โลกเสมือนจริงจะเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ตราบเท่าที่คนผู้นั้นมีความสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีความคิดสร้างสรรค์และไม่หยุดเรียนรู้เพื่อ upskill/reskill ให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ภาวะความบกพร่องตามนิยามชื่อเรียกของคนพิการ (People with Disability) ข้างต้น จึงกลายเป็นเพียงอดีตเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพลิกโลกทั้งใบให้เป็นความได้เปรียบทางกายภาพสำหรับคนพิการ หนึ่งในโมเดลการจ้างงาน
คนพิการที่น่าสนใจและเป็นมิติใหม่ในยุคดิจิทัล คือ โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการด้านการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นโครงการโดยการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (depa) ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Manpower Fund) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการบริหารสังคม (SAF) และ Vulcan Coalition (Social Enterprise)
ที่เป็นการออกแบบแพลตฟอร์มการพัฒนานวัตกรรม AI ของประเทศไทยด้วยการขับเคลื่อนจากความสามารถของ
คนพิการ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพจากการเป็นเจ้าของชุดข้อมูล (Data Ownership) ที่เมื่อมีการนำข้อมูลไปใช้ต่อในทางธุรกิจ คนพิการที่เป็นเจ้าของชุดข้อมูลก็จะได้รับส่วนปันผลที่มาจากทรัพย์สินทางปัญญานั้นด้วย
รูปแบบการจ้างงานคนพิการเพื่อเป็น AI Trainer, https://medium.com/@Vulcan_Coalition
โดยรูปแบบการจ้างงานคนพิการดังกล่าว Vulcan Coalition ได้แนวคิดจากการมองเห็นศักยภาพบางอย่าง ที่เหนือกว่าคนไม่พิการ ซึ่งเป็นการทำงานของสมองเพื่อชดเชยส่วนที่ประสาทสัมผัสส่วนอื่นที่พิการ นั่นคือคนพิการทางสายตามีประสาทหูที่ดีกว่า หรือคนพิการทางการได้ยินก็จะมีแนวโน้มที่จะแยกแยะภาพด้วยการมองเห็นได้ดีกว่า รวมถึง ผู้พิการ Autistic กลุ่ม Savant ซึ่งเป็นความพิการทางสมองที่มีความสามารถจดจำได้ดี และมีอัจฉริยะภาพด้านการจดจ่ออย่างมีสมาธิ (Focus) และการจดจำรูปแบบ (Pattern Recognition) ที่เหนือกว่าคนไม่พิการ ด้วยความสามารถทางกายภาพพิเศษเหล่านี้ เมื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการป้อนข้อมูลก็จะได้ชุดข้อมูลที่มีคนพิการทำหน้าที่ AI Trainer ได้อย่างสมบูรณ์ นอกเหนือจากนั้นแล้ว จาก พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 ที่กำหนดให้องค์กร/ นายจ้าง/ สถานประกอบการ รับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100:1 หรือจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ (มาตรา 34) องค์กรที่จ้างงานสามารถรับซื้อชุดข้อมูลจากคนพิการโดยเปลี่ยนเป็นจ้างงานคนพิการผ่านมาตรา 35 ซึ่งคนพิการทุกคนจะทำสัญญาโดยตรงกับองค์กรที่จ้างงาน โดยมี Vulcan Coalition ทำหน้าที่เป็นผู้ระดมและรวบรวมข้อมูลปัญญาประดิษฐ์เพื่อคนพิการ (AI Data Crowdsourcing for Disability) และเป็นผู้ดูแลแพลตฟอร์มป้อนข้อมูลรวมถึง ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านเอกสาร ซึ่งเป็นวิธีการจ้างงานที่ครบวงจรที่คนพิการจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 9,000 บาท/เดือน รวมกับเงินปันผล 30% จากชุดข้อมูล และสถานประกอบการเองก็ได้ผลประโยชน์จากการเข้าใช้งาน AI Model และ Data ด้วยเงื่อนไขพิเศษ รวมถึงเพิ่มคุณค่าด้าน CSR หรือ CSV ที่เป็นการคืนกำไรสู่สังคม ด้วยการส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืนจากเงินเดือนและเงินปันผล ลดการพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐในระยะยาว โดยการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาให้กับคนพิการ เป็นการสร้างรายได้ตลอดชีวิต
นอกจากโอกาสการสร้างอาชีพให้คนพิการเป็น AI Trainer แล้ว เป็นที่น่าสนใจว่าหลายประเทศทั่วโลกยังมีเทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการในการทำงานหรือประกอบอาชีพได้ทดแทนส่วนของร่างกายที่ขาดหายไปหรือไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น การให้คนพิการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ให้บริการ คาเฟ่ในประเทศญี่ปุ่น หรือในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ มีการสร้างความเท่าเทียมของคนพิการให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย Universal Design เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต การพัฒนาศักยภาพแรงงานคนพิการ และการมีศูนย์บริการให้การศึกษาเฉพาะด้านสำหรับคนพิการแต่ละประเภท
ความท้าทายของ inclusive society for disabilities
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เกิดผลกระทบใหญ่ด้านระบบเศรษฐกิจและสังคมของโลก ทำให้ทุกภาคส่วนธุรกิจถูกเร่งให้ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์กับการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ หรือการลดขนาดขององค์กรลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากธุรกิจที่หยุดชะงักจากมาตรการควบคุมการระบาดโดยการปิดสถานที่ (Lockdown) ในหลายประเทศ รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้หลายองค์กรเห็นถึงความไม่จำเป็นของบางตำแหน่งงาน และนำไปสู่การพิจารณาการเลิกจ้างหรือปรับลดคนทำงานในหลายตำแหน่งเพื่อรักษาความอยู่รอดขององค์กรไว้ คนพิการซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป จึงมีโอกาสถูกเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรก ๆ ในสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้
การใช้ชีวิตบนความปกติใหม่ (New Normal) ในสังคมโลกได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จึงเป็นความท้าทายที่มหาศาลของคนพิการ ตั้งแต่การดำรงชีวิตที่ขาดการพึ่งพาผู้อื่นหรือการสัมผัสติดต่อที่น้อยลงเพื่อรักษาระยะห่าง มีอุปสรรคใน
การเข้าถึงการรักษาพยาบาลหรือการถูกจำกัดการรับรู้ข่าวสารทางสุขภาพ รวมถึงการถูกเลิกจ้างจากงานเดิมและมีโอกาสน้อยมากที่จะถูกจ้างกลับไปในระบบแรงงานใหม่อีกครั้งเมื่อเทียบกับคนทั่วไป จากสถิติในปี 2018 พบว่าอัตราจ้างงานคนพิการในวัยแรงงาน (20-64 ปี) มีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าคนไม่พิการที่มีอัตราการจ้างงานมากกว่าถึงร้อยละ 75 นอกจากนี้คนพิการมากถึง 22% ถูกกีดกันให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของการจ้างงานที่ต่ำ ซึ่งเป็นความ
ท้าทายสำหรับเป้าหมายที่ 8 การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และประเทศสมาชิก โดยการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และเหมาะสมสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง เยาวชน และคนพิการ รวมถึงคนทุกกลุ่มในรูปแบบ inclusive society ด้วยการให้ค่าตอบแทนการใช้จ่ายที่เท่าเทียม
ผลงานตีพิมพ์ร่วมกันของ Fundación ONCE, ILO Global Business and Disability Network, Disability Hub Europe, และ European Social Fund ในหัวข้อ An inclusive digital economy for people with disabilities ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ กุมภาพันธ์ 2021 ได้เสนอแนวทางสำหรับ สถานการณ์ยุคใหม่ในการจ้างงานคนพิการด้วยปัจจัยหลัก 4 ข้อ ได้แก่
รูปที่ 2: The new world of work scenario, จากบทความเรื่อง An inclusive digital economy for people with disabilities (Feb 2021), https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---dgreports/---gender/documents/publication/wcms_769852.pdf
จาก 4 ปัจจัยหลักข้างต้นนั้น พบว่าหากควบคุมผลกระทบของความเสี่ยงและความท้าทายของปัจจัยแต่ละข้อ ได้ด้วยดี แนวโน้มที่จะสามารถนำพาคนพิการเข้าสู่การทำงานในรูปแบบ Digital Inclusion ย่อมมีความเป็นไปได้ หากมีการร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมและให้ความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลโดยสะดวกถ้วนหน้า (Accessibility) ให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในคนพิการแต่ละประเภท การสร้างเสริมความตระหนักรู้ให้คนทั่วไปในสังคม นำไปสู่การมุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลใหม่ ๆ ให้คนไทยทุกคนและทุกกลุ่ม กลายเป็นกำลังคนดิจิทัลในสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลไปพร้อมกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยศรุตา เบ็ญก็เต็ม
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก :