บริการ
TH
EN
TH
CN

Health Link: แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของคนไทย

คุณเคยไหม ที่เมื่อเข้าโรงพยาบาลแห่งใหม่แล้วต้องใช้ข้อมูลประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเก่า ที่เมื่อพบแพทย์แล้วต้องตอบคำถามว่าตอนนี้ใช้ยาอะไรอยู่บ้างแต่เราจำไม่ได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อโรงพยาบาลหลายแห่งก็เก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ทำไมเราต้องเดินไปขอประวัติของตนเอง แล้วต้องให้โรงพยาบาลเขียนข้อมูลลงบนแผ่นซีดีเพื่อนำไปส่งที่อื่น ทำไมถึงไม่ส่งข้อมูลกันผ่านอินเทอร์เน็ต เราจะได้สะดวกสบายมากขึ้น และแพทย์จะได้มีข้อมูลเพื่อช่วยในการวินิจฉัยให้เราได้ดีขึ้น?

Health Link คืออะไร?
Health Link จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบปัญหานี้ Health Link เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าดูข้อมูลสุขภาพของคนไข้จากโรงพยาบาลอื่นได้ โดยคนไข้จะสามารถกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ จึงไม่ได้แปลว่าแพทย์ทุกคนจะเข้ามาดูข้อมูลสุขภาพของเราเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ Health Link จะช่วยแพทย์ในห้องฉุกเฉิน โดยจะให้สิทธิแพทย์ในห้องฉุกเฉินสืบค้นข้อมูลคนไข้ที่หมดสติ ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นอาจจะช่วยรักษาชีวิตของคนไข้ในห้องฉุกเฉินได้

Health Link เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว และมีการนำไปใช้จริงแล้วในต่างประเทศ ซึ่งถูกเรียกรวม ๆ ว่า Health Information Exchange (HIE) โดยมักจะพบในกลุ่มหรือเครือโรงพยาบาล ที่ใช้ระบบสารสนเทศ (Hospital Information System หรือ HIS) แบบเดียวกัน การที่จะเกิดระบบ HIE ในระดับประเทศนั้นยากกว่าการทำ HIE เฉพาะกลุ่มมากนัก เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งใช้ระบบ HIS ต่างกัน และยังใช้มาตรฐานข้อมูลที่ต่างกันด้วย ดังนั้น การทำ HIE ในระดับประเทศจึงจำเป็นต้องมีการตกลงมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับ และต้องลงมือแปลงข้อมูลของตนเองให้เข้ากับมาตรฐานก่อนที่จะส่งข้อมูลเข้ามา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องมีการลงทุนและต้องการการผลักดันจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดขึ้นได้
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้เกิดระบบ HIE ในระดับประเทศ โดยการสร้างแพลตฟอร์ม Health Link ขึ้นมา และได้กำหนดมาตรฐานกลางร่วมกับโรงพยาบาลในภาคี และมีการสนับสนุนโรงพยาบาลในด้านเครื่องมือและกระบวนการที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้นได้ตามมาตรฐานดังกล่าว

มาตรฐานข้อมูลระดับสากล
ระบบ Health Link ได้ใช้มาตรฐาน Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จากองค์กร Health Level Seven (HL7) ซึ่งเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก ได้รับการอัปเดต อยู่อย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานรัฐบาลหลายประเทศนำไปใช้ เช่น Centers for Medicare & Medicaid Services (CMS) ของสหรัฐอเมริกา
สำหรับผู้พัฒนา FHIR นั้นง่ายต่อการนำไปใช้งานมาก เนื่องจาก FHIR ใช้ HTTP-based RESTful protocol ซึ่งนักพัฒนาเว็บไซต์ก็เข้าใจกันดีว่าเป็นมาตรฐานการพัฒนาเว็บไซต์ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน ใช้ได้กับอุปกรณ์หลากหลายชนิด และมีตัวเลือกของการแสดงข้อมูลหลายชนิด ได้แก่ JSON, XML, และ RDF ง่ายต่อการนำไปใช้ร่วมกับแอปพลิเคชันที่ผู้พัฒนาอื่น ๆ พัฒนาขึ้นมาเสริม

ประโยชน์ของ Health Link
การที่แพทย์สามารถดูข้อมูลประวัติการรักษาจากต่างโรงพยาบาลได้ จะเกิดประโยชน์กับทั้งคนไข้ และกับแพทย์เองด้วย

  • ประโยชน์สำหรับคนไข้: คนไข้จะได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปขอข้อมูลจากโรงพยาบาลเอง ประหยัดเวลาของคนไข้ได้เป็นอย่างมาก โดยที่ยังสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ และอาจสามารถช่วยชีวิตของคนไข้ในกรณีฉุกเฉินและถูกนำส่งโรงพยาบาลที่ยังไม่เคยมีประวัติของคนไข้อีกด้วย
  • ประโยชน์สำหรับแพทย์: แพทย์สามารถประหยัดเวลาในการวินิจฉัยคนไข้ ในขณะเดียวกันแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลคนไข้ที่ครบถ้วนขึ้น ทำให้สามารถตัดสินใจหรือวินิจฉัยอาการได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยชีวิตคนไข้ได้

ตัวอย่างหน้าแอปพลิเคชัน Health Link

เข้าถึงบริการ Health Link ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน
Health Link จะเปิดให้บริการกับคนไทยทุกคนผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ คนไข้ที่ใช้ Health Link จะสามารถกำหนดได้ว่าจะอนุญาตให้โรงพยาบาลใดส่งข้อมูลตนเองเข้าสู่ระบบได้บ้าง หากคุณมีข้อมูลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ไม่อยากเปิดเผย ก็สามารถกำหนดให้โรงพยาบาลนั้นไม่ส่งข้อมูลได้ โดยที่ยังได้ใช้ประโยชน์การเชื่อมโยงข้อมูลจากโรงพยาบาลที่เหลือ ในบางโรงพยาบาลที่กำหนดให้ใช้การขอความยินยอมแบบรายครั้ง เมื่อแพทย์ขอดูข้อมูลจากโรงพยาบาลเหล่านี้ จะมีการแจ้งเตือนมาที่ แอปพลิเคชัน Health Link เพื่อให้คนไข้กดยินยอม (หรือปฏิเสธ) ให้แพทย์ดูข้อมูลในส่วนนั้นได้
นอกจากนี้ คนไข้สามารถยกเลิกการอนุญาตให้บางโรงพยาบาลส่งข้อมูล หรือถอนความยินยอมและออกจากโครงการ Health Link ได้ทุกเมื่อ

ภาพที่ 1 แผนภาพอย่างง่ายของระบบ Health Link

ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน Health Link ปกป้องข้อมูลของคุณอย่างไรบ้าง?

  • Access control: ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง จะต้องเป็นแพทย์ที่อยู่ภายใต้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ Health Link และเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา เท่านั้น และจะมีการเฝ้าระวัง หากมีการขอข้อมูลที่ผิดปกติ Health Link จะระงับบัญชีของแพทย์โดยอัตโนมัติ จากนั้นทางผู้ดูแลระบบ จะสามารถตรวจสอบประวัติการเข้าถึงข้อมูลของแพทย์ได้
  • ISO standard cloud security: ระบบ Health Link ตั้งอยู่บนคลาวด์ของ กสท โทรคมนาคม ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 27001 และจะมีการตรวจสอบ (audit) จากหน่วยงานภายนอกในด้านความปลอดภัยของระบบ
  • De-identified data storage: เราแบ่งข้อมูลที่เก็บไว้เป็น 2 ส่วนแยกออกจากกัน ส่วนแรกจะเป็นข้อมูลที่ใช้ระบุตัวตนได้ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นข้อมูลสุขภาพ และจะนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาประกอบกันที่ปลายทางเมื่อแพทย์ขอดูข้อมูลผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครแอบดูข้อมูลของคุณระหว่างทาง

สถานะของ Health Link ในปัจจุบัน
ขณะนี้ระบบ Health Link อยู่ระหว่างการทดสอบระบบร่วมกับโรงพยาบาลนำร่อง โดยคาดว่าโรงพยาบาลนำร่องจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาสมัครใช้งานจริงเร็ว ๆ นี้ และโรงพยาบาลอื่น ๆ จะทยอยเปิดให้ใช้บริการระบบ Health Link ตามกันมา โดยมีเป้าหมายที่ 100 โรงพยาบาลภายในสิ้นปี 2021 ครับ ทุกคนอดใจรอฟังข่าวดีกันได้เลยครับ และหากโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ยังไม่ได้เข้าร่วม Health Link ก็ยังไม่ต้องผิดหวังนะครับ เพราะโครงการHealth Link จะยังคงมุ่งหน้าเชิญชวนให้โรงพยาบาลเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อไป จนเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพได้ทั้งประเทศในที่สุดครับ

What’s Next?
ปัจจุบันแพทย์จะเห็นข้อมูลเรียงตามวันที่นำเข้าข้อมูล และสามารถเลือกแสดงตามประเภทข้อมูล หรือเลือกแสดงข้อมูลเฉพาะบางโรงพยาบาลได้ ทางผู้ออกแบบระบบได้ให้ความสำคัญกับเวลาของแพทย์เป็นอย่างมาก และต้องการที่จะสร้างระบบที่ทำให้แพทย์สามารถเห็นข้อมูลที่สำคัญ จำเป็นสำหรับการรักษา ในเวลาที่สั้นที่สุด จึงมีแผนที่จะพัฒนาหน้าจอแสดงผลให้ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการนำ AI มาช่วยในการเลือกข้อมูลที่จะนำไปแสดงผลในหน้าแรกที่แพทย์เห็น
เนื่องจากข้อมูลสุขภาพที่แลกเปลี่ยนในโครงการ Health Link ยังเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ ซึ่งอาจจะต้องผ่านกระบวนการแปลความหมายก่อนที่คนไข้ทั่วไปจะเข้าใจได้ถูกต้อง Health Link จึงยังไม่พร้อมที่จะแสดงข้อมูลสุขภาพให้คนไข้เข้าถึงได้เอง แต่ในอนาคต Health Link อาจขยายผลไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพสำหรับให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ เพื่อที่จะให้ข้อมูลสุขภาพของประชาชนเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกที่ BigData.go.th เว็บไซต์เพื่อการแบ่งปันความรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics)

โดย พชร วงศ์สุทธิโกศล สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล