นวัตกรรมทั่วถึงหรือ Inclusive Innovation นับเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาสังคม ชุมชนในระดับรากหญ้า (Bottom of Pyramid) ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานวิชาการต่าง ๆ ได้คำนึงถึงความสำคัญของ Inclusive Innovation มากขึ้น มีการประชุมหารือเพื่อร่วมกันกำหนดกรอบและทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนา Inclusive Innovation อย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวในประเทศไทยยังคงเป็นภาพที่ไม่ชัดเจนและไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก
จากข้อสรุปในการเสวนา เรื่อง “Inclusive Innovation” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 จัดโดยสำนักงาน สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซ่า เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายนวัตกรรมทั่งถึง (Inclusive Innovation) สำหรับประเทศไทย” ครั้งที่ 1 ได้ให้คำนิยามของคำว่า “Inclusive Innovation” ตามนิยามของธนาคารโลกว่า Inclusive Innovation คือการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของประชาชนฐานล่างของสังคม โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวจะต้องสามารถผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำ และสามารถจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าในท้องตลาด เพื่อให้สามารถกระจายและเข้าถึงประชาชนฐานล่างได้อย่างทั่วถึง ในราคาที่ถูก แต่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เนื่องจากประชาชนฐานล่างเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมาก เป็นตลาดที่ใหญ่ ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการทางสังคม สามารถสร้างผลกําไรอย่างมหาศาลได้ แม้ว่าส่วนต่างของต้นทุน-กําไรจะไม่สูง แต่จะชดเชยด้วยขนาดของตลาดที่มีจำนวนมากได้
ทิศทางการกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางการส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่เป็น Inclusive Innovation เพื่อคนไทยควรเป็นอย่างไร ที่ผ่านมามักจะมีการตั้งคำถามว่า หากประเทศไทยจะกำหนด ทิศทางการขับเคลื่อนและกรอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อให้เกิด Inclusive Innovation สำหรับสังคม ชุมชนและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม “เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ควรขับเคลื่อนควรเป็นเทคโนโลยีอะไร” จากคำถามนี้ ผู้เขียนขอเสนอมุมมองผ่านการถอดประสบการณ์ในการทำงานและการเรียนรู้ด้านการส่งเสริมสังคม ชุมชนและท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัลในสังคม ชุมชนและท้องถิ่นไทย โดยตั้งแต่อดีตประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม จนปัจจุบันนี้อาชีพเกษตรกรรมก็ยังคงมีความสำคัญกับเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ จากสถิติจำนวนประชากร จำนวนแรงงานภาคการเกษตรของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 7.27 ล้านครัวเรือน มีแรงงานด้านการเกษตร 27.05 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 40 ของประชาชนไทย บนพื้นที่การเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมประมาณ 1,347,421 ล้านบาท ซึ่งไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคธุรกิจบริการ จากข้อมูลข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของไทยเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่กำลังเผชิญกับสภาพปัญหาต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น รายได้ต่ำอันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตสูง ในขณะที่ประสิทธิภาพในการผลิตต่ำ จำนวนผลผลิต ที่ได้น้อยและราคาผลผลิตไม่แน่นอน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัญหาประสิทธิภาพในการผลิตต่ำอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขาดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การขาดแคลนเทคโนโลยีการผลิต การขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยที่เป็นสังคมผู้สูงวัย และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ก็นับเป็นปัญหาที่สำคัญและทวีความรุนแรงกับประชาชนในภาคการเกษตรมากยิ่งขึ้น โจทย์ท้าทายที่สำคัญคือทำอย่างไรที่จะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นได้ และในขณะเดียวกันก็จะต้องลดภาระหนี้สินให้น้อยลง เพื่อที่จะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทางสังคมให้แก่เกษตรกรไทย ดังนั้น Inclusive Innovation เพื่อเกษตรกรไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน
ภาพที่ 1 ตัวอย่างเกษตรกรสูงวัยในชนบท
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
การส่งเสริมเทคโนโลยีให้เป็น Inclusive Innovation ต้องอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของโลก และการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ในภาคการเกษตรเริ่มแพร่หลายและเป็นที่รู้จักของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เราจะรู้จักและเคยได้ยินชื่อของ Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะที่ส่งผลให้การทำการเกษตรในปัจจุบันเกิดความแม่นยำ มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง ในขณะที่ต้นทุนในการผลิตถูกลง ตอบรับกับปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรที่ลดน้อยลงและสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี Smart Farm จึงดูเหมือนว่าจะเป็นเทคโนโลยีความหวังที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคปศุสัตว์ จากการดำเนินงานของฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การสร้างรายได้เพิ่ม ตลอดจนการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนในชุมชน ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563 ซึ่งได้เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการจากชุมชนเพื่อให้การช่วยเหลือหรืออุดหนุนงบประมาณสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและวัตกรรมดิจิทัลในชุมชน โดยจากสถิติที่ผ่านมา มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก depa ทั้งสิ้นจำนวน 158 โครงการ ซึ่งกว่าร้อยละ 66 ของโครงการทั้งหมดชุมชนมีความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชุมชนมีความต้องการและยอมรับการใช้งานเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ในระดับสูงและอย่างแพร่หลาย โดยมีทิศทางที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานของ depa ที่ผ่านมาและการสำรวจราคาเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ในท้องตลาด พบว่า การลงทุนในเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm เกษตรกรจะต้องการลงทุนประมาณ 150,000 – 300,000 บาท ต่อ 1 ระบบ ทั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก อีกทั้งจำนวนผู้ประกอบการยังมีจำนวนน้อย จึงส่งผลให้มูลค่าในการลงทุนเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนสูง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการผลิตเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm เช่น ประเทศจีน จากข้อจำกัดดังกล่าว จึงส่งผลให้เกษตรกรไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินลงทุนน้อย จึงไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ได้ จึงทำให้ดูเหมือนว่าเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm เป็นเทคโนโลยีที่อยู่ไกลเกินเอื้อมของเกษตรกรไทย
ภาพที่ 2 การลงพื้นที่ในการพัฒนาเทคโนโลยีของชุมชน
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
ดังนั้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทย การส่งเสริมให้การลงทุนในเทคโนโลยี IoT และ Smart Farm ภายใต้แนวคิด Inclusive Innovation จึงเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ทำการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและจัดทำแผนเพื่อนำไปสู่การประยุคใช้เทคโนโลยีในชุมชนต่าง ๆ กว่า 57 ชุมชน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิทยุและโทรทัศน์ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิตจากอุตสาหกรรมเดิมเข้าสู่การผลิตอุปกรณ์ IoT และ Smart Farm เพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนไทยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
สำหรับแนวทางในการพัฒนาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้มีแผนในการขยายการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั่วทุกประเทศ โดยในปี 2564 มีแผนการส่งเสริมกว่า 60 ชุมชน พร้อมกันนี้จะเริ่มสร้างมาตรฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพและราคาถูกเพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลสะดวกยิ่งขึ้น สร้างผู้ประกอบการชุมชนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างต้นแบบชุมชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นแนวทางให้กับชุมชนอื่น ๆใกล้เคียงต่อไป ไม่เพียงแต่ความหมายในวิสาหกิจชุมชนเท่านั้นที่ส่งเสริม แต่คำว่าชุมชน ยังขยายขอบเขตไปยังกลุ่มสังคมกลุ่มคนอื่น ๆ ทั้งโรงเรียน เด็ก ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดในอนาคต
ภาพที่ 3 เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
โดย นายวาฤทธิ์ ศิริพิทยาโรจน์
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
เอกสารอ้างอิง