ผู้นำด้านกำลังคนและนวัตกรรมดิจิทัลรายใหม่ของโลก
ปัจจุบันประเทศจีนไม่ได้เป็นประเทศที่เอาแต่ลอกเลียนแบบสินค้าด้านเทคโนโลยีอีกต่อไป หากแต่ประเทศจีนมีการลงทุนขนาดใหญ่และการมีจ้างงานคนที่มีความสามารถทั่วโลก เพื่อเข้ามาช่วยทำให้ระบบนิเวศน์ด้านนวัตกรรมของจีนมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลกจำนวนมากต่างมีศูนย์วิจัยตั้งอยู่ในประเทศจีน แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างไรภายในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษเท่านั้น ปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บริษัทจีนสัญชาติจีน มีศักยภาพในการสร้างสรรนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง อยู่หลายบริษัท อาทิเช่น บริษัท Alibaba ของจีนตอนนี้ มีมูลค่าตลาดอยู่อันดับที่ 7 ส่วนบริษัท Tencent ซึ่งเป็นบริษัท อินเทอร์เน็ตจีนที่พัฒนา Application WeChat และ QQ ซึ่งหากมองในแง่มูลค่าการตลาด ทุกวันนี้จะพบว่าบริษัท Tencent เป็น บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลกในขณะที่ Facebook เป็นอันดับที่ 6 บริษัท Amazon อยู่ที่อันดับ2 (ข้อมูล ณ เม.ย. ปี พ.ศ. 2562) ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทจีนได้กลายเป็นผู้นำระดับโลกในหลากหลายด้านของเศรษฐกิจดิจิทัล ตัวอย่างเช่น บริษัท E-commerce จีน มีส่วนแบ่งการตลาดที่มีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 40 ของโลก ซึ่งมากกว่า บริษัทจาก ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกา
.
มูลค่าตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ๆของโลก
(Source: Internet Trends Report 2019 by Mary Meeker)
อย่างไรก็ตามความสำเร็จเหล่านั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากนโยบายและมาตรการที่ใช้ในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและการช่วยเหลือบริษัทนวัตกรรมอย่างเหมาะสม ซึ่งการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของจีนให้มีศักยภาพสูงได้นั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วนที่ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนและสร้างระบบนิเวศน์ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลของจีน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นั่นก็คือ 1. รัฐบาล 2. ผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการด้านดิจิทัล 3. กลุ่มผู้ร่วมลงทุนขนาดใหญ่
บทบาทของรัฐบาลจีนในการพัฒนากำลังคนและนวัตกรรมดิจิทัล
แรงผลักดันแรกสำหรับการพัฒนากำลังคนและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศจีน คือการผลักดันจากรัฐบาลโดยมีตัวอย่างสำคัญได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมตามแผน Made in China 2025 การขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การลงทุนในโครงการวิจัยพัฒนา การพัฒนาทักษะความสามารถของกำลังคน และการสร้างโอกาสในการทำงาน เป็นต้น
มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมตามแผน Made in China 2025 -- รัฐบาลจีนมีส่วนสำคัญในการแทรกแซงเศรษฐกิจมาโดยตลอด โดยมีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ซึ่งในแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฉบับนี้ รัฐบาลจีนได้มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงได้มีการส่งเสริมและจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือบริษัทขนาดใหญ่ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยมุ่งเน้นใน 10 สาขาหลักๆ ได้แก่ ยานยนต์พลังงานใหม่ เครื่องผลิตพลังงาน อุปกรณ์การแพทย์ วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ ระบบขนส่งทางราง หุ่นยนต์ อุปกรณ์การเกษตร เทคโนโลยีอากาศยาน และวิศวกรรมการต่อเรือ
อุตสาหกรรมหลัก 10 สาขาตามแผน Made In China 2025
Source: State Council’s Made In China 2025 Action Plan
ขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี -- รัฐบาลจีน มีแผนพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2543 จีนได้มีการเพิ่มการศึกษาภาคบังคับเป็นระยะเวลาเก้าปี ซึ่งนโยบายนี้ช่วยทำให้ลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือในประเทศลงได้เป็นจำนวนมาก และยังนโยบายสนับสนุนให้ นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมต้น ให้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนอาชีวะ ที่มีการออกแบบหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ส่งเสริมให้นักเรียนในโรงเรียนอาชีวศึกษาต่าง ๆ เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งจากแผนการต่างๆดังกล่าวข้างต้น ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ในตลาด มีการศึกษาเพิ่มขึ้นจากเดิม 9 ปี เป็น 12.4 ปี
ลงทุนในโครงการวิจัยพัฒนา -- นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้เปิดตัวโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติ และโครงการวิจัยเทคโนโลยีอื่นๆจำนวนมาก อีกทั้งมีงบประมาณการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ จากประมาณ 1.54% ในปี 2008 เป็นเกิน 2% จากปี 2016 เป็นต้นมา
.
งบประมาณการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ของประเทศจีน
.
(Source: Prof. Dr. HAN, Zheng , Chair of Innovation and Entrepreneurship, Tongji University Shanghai)
.
พัฒนาทักษะความสามารถของกำลังคน -- โดยรัฐบาลจีน มีนโยบายการปฏิรูประบบการศึกษาและให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังแรงงาน ให้มีความรู้ ทักษะและความสามารถ ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ และมีการออกโครงการ และมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สำหรับแรงงานที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังได้สร้างศูนย์วิจัยวิศวกรรมแห่งชาติและห้องปฏิบัติการวิศวกรรมแห่งชาติ และยังโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องกับพัฒนากำลังคนที่สำคัญ เช่น โครงการเพื่อยกระดับความรู้ด้านเทคนิคให้กับกำลังคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน โครงการการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโครงการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูงจากต่างประเทศ โดยประเทศจีนมีการเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเต็มเวลาทั่วประเทศ จำนวน 1,965,400 คนหรือคิดเป็น 2.9 เท่าของตัวเลขเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเต็มเวลา 1,593,400 คนคิดเป็น 3.4 เท่าของปี พ.ศ.2534 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญสำหรับการศึกษาหลังปริญญาเอกอีกจำนวน 2,146 แห่งและมีจำนวนนักวิจัยหลังปริญญาเอกเกิน 70,000 คน และนอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีแผนส่งเสริมให้เกิดบุคคลต้นแบบที่มีความรู้และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้อุทิศตนเพื่อสังคม มีผลงานสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่น ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่อง เพื่อให้แรงงาน มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง ให้มีทักษะและความสามารถเป็นแบบเดียวกับบุคคลต้นแบบ
สร้างโอกาสการทำงาน -- รัฐบาลจีนยังพยายามสร้างโอกาสในการทำงานและขยายการจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และใช้นโยบายด้านภาษีมาช่วยส่งเสริมการจ้างงาน โดยเน้นส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่สมดุลระหว่างเขตเมืองและในเขตชนบทในภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ไปลงทุนในภูมิภาคต่างๆ และมีการกำหนดพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้บริษัทเหล่านี้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษด้วยการอุดหนุน และการลดหย่อนภาษี ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารและการจัดหาเงินทุนโดยตรง นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเปิดโอกาสให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent ได้เข้าไปเป็นผู้ให้บริการต่างๆให้กับรัฐบาล ซึ่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ มีส่วนสำคัญมากในการทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล
บทบาทของผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการ
แรงผลักดันที่สองสำหรับการพัฒนากำลังคนและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ การที่มีโครงการช่วยส่งเสริมและผลักดันนักประดิษฐ์ชาวจีน เน้นการพัฒนานวัตกรรมราคาประหยัด ซึ่งแนวคิดนี้หมายถึง การที่ส่งเสริมให้แรงงานจีน ได้รับการพัฒนาทักษะ และยกระดับสามารถของตนเองจากการรับจ้างทำงาน ให้กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ โดยแนวทางสำคัญคือ การส่งเสริมให้นักประดิษฐ์ชาวจีนหรือผู้ประกอบการชาวจีนพัฒนาโซลูชั่นด้านดิจิทัลในราคาถูกและมีความน่าเชื่อถือสำหรับผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะประชากรส่วนใหญ่ของจีน ยังมีรายได้น้อย
ตัวอย่างของการพัฒนาในแนวทางนี้ ได้แก่ บริษัท BYD ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 โดยบริษัทเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ราคาถูกสำหรับโทรศัพท์มือถือแต่คุณภาพที่ดี โดยกำหนดราคาให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคจีน บริษัท BYD จะเน้นออกแบบสินค้ารุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว แทนที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์แบบก่อนที่จะเปิดตัว เพราะบริษัททำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มักจะดีกว่ารุ่นก่อนหน้า ดังนั้นการที่ออกผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภค มองข้ามข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ไป ซึ่งมีผลทำให้ บริษัทลดความเสี่ยงในการถูกโจมตีจากข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ จนทำให้ แบรนด์ BYD กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จทางเศรษฐกิจและวิธีการนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คิดค้นนวัตกรรมของจีนได้มีการปรับเอาเทคโนโลยีของประเทศตะวันตก ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของจีน และนำเทคโนโลยีเหล่านั้น ไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสมและราคาต่ำกว่าเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อส่งต่อไปให้ถึงมือผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางจีนได้ในวงกว้าง
บทบาทของกลุ่มผู้ร่วมลงทุนขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บริษัท จีนที่มีนวัตกรรมสูงได้แก่ Baidu, Alibaba, และ Tencent หรือ BAT ตามที่รู้จักกัน และยังมีบริษัท เช่น Huawei, Xiaomi หรือ ZTE ที่กำลังสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่หลากหลาย ที่เข้ากับทุกแง่มุมของชีวิตผู้บริโภค โดยบริษัทเหล่านี้ ได้มีการลงทุนเป็นจำนวนมากในเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการเงิน ซึ่งประเทศจีน ติดอันดับอยู่ใน 3 อันดับแรกของโลกสำหรับการลงทุนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ด้าน VR/AR ด้านยานพาหนะอัตโนมัติ ด้านการพิมพ์ 3 มิติ ด้านหุ่นยนต์โดรน และ ด้าน AI ซึ่งในจีนนี้ BAT และ บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ลงทุนอย่างหนัก ผ่าน Venture Capital เพื่อที่จะทำให้ระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลของจีนสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้แบบทวีคูณ
กลยุทธ์ของบริษัทขนาดใหญ่ในจีน ในการวางตำแหน่งของตนเอง ให้โดดเด่นในโลกดิจิทัลนั้น คือ การลงทุนในบริษัทที่มีกำลังคนที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมาใช้กำจัดคู่แข่งขันของตนเองในตลาด Offline ที่ไม่มีประสิทธิภาพและคุณภาพต่ำออกไปจากตลาด ในขณะเดียวกันก็ผลักดันธุรกิจต่างๆหันมาใช้เทคโนโลยี Online ของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าให้เข้ามาแทนที่ ทำให้กำลังคนที่ได้รับการพัฒนาทักษะ มีโอกาสที่จะสร้างธุรกิจในระบบนิเวศน์ที่บริษัทขนาดใหญ่สร้างขึ้น โดยระบบนิเวศน์ใหม่นี้ มี Unicorn และ สตาร์ทอัพใหม่ที่กำลังเติบโตจากผลักดันและจากการระดมทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ของจีน เช่น หนึ่งในห้าสตาร์ทอัพในจีนได้รับการสนับสนุนจาก BAT ได้แก่ Xiaomi ซึ่งกำลังก้าวออกไปจากตลาดโทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟส์สไตล์ชีวิตของลูกค้า
เงินลงทุนของ Venture capital ใน Startup สาขาต่างๆของแต่ละประเทศ
Source, PitchBook; McKinsey Global Institute Analysis
โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลในประเทศจีน นอกจากจะได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่แล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ เนื่องจากไอเดียของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จะสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยบริษัทสตาร์ทรุ่นใหม่ในจีนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขต Digital Delta ที่อยู่ในเซินเจิ้น ที่รู้จักอย่างกว้างขวางในด้านของการสร้างผลิตภัณฑ์เลียนแบบ ซึ่งปัจจุบันเซินเจิ้นได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมแบบเปิดของจีน และเป็นศูนย์กลางสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นจากทำฮาร์ดแวร์ โดยในเขตนี้จะมีย่าน Huaqiangbei ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นที่ตั้งของ บริษัทอย่าง DJI ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ที่สุดด้วยส่วนแบ่ง 70% ของตลาดโดรน
. ตัวอย่างสตาร์ทอัพด้านฮาร์ดแวร์ที่มีฐานอยู่ที่เซินเจิ้น
Source : Maker Map of Shenzhen
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างเช่น บริษัท DJI มีแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับนักพัฒนาที่สร้างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใหม่สำหรับโดรนในหลาย ๆ ด้านเช่น เกษตรกรรมป่าไม้อาคารสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่เพียงแต่การทำผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์เท่านั้น บริษัทรุ่นใหม่ของจีนยังมีความเชี่ยวชาญในการจัดการข้อมูลจำนวนมาก และเรียนรู้ที่จะนำเอาข้อมูลที่มีค่ามาใช้ในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อีกด้วย
สรุปองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน คือ รัฐบาล ผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการด้านดิจิทัล และกลุ่มผู้ร่วมลงทุนขนาดใหญ่ ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรและการทำให้เกิดนวัตกรรมด้านดิจิทัลของจีน โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้มีแรงงานที่มีทักษะและความสามารถ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ส่วนผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ก็เน้นการสร้างนวัตกรรมราคาประหยัด ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง เพื่อที่จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ ก็จะเน้นบทบาทในการสร้างโอกาสให้กับกำลังคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมและช่วยเหลือ บริษัทสตาร์ทอัพ เหล่านั้น ให้สามารถเติบโตในตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยของเราก็ควรที่จะศึกษาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนและนวัตกรรมดิจิทัลของจีน เพื่อที่จะนำมาประยุกต์กับแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลให้เติบโตได้เช่นเดียวกับที่ประเทศจีนเคยทำสำเร็จมาแล้ว
ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล | สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ข้อมูลอ้างอิง