บริการ
TH
EN
TH
CN

การลงทุนใน Startup ไทยจากมุมมองของภาครัฐ

ในโลกธุรกิจที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ในแบบ “สตาร์ทอัพ” ผุดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักเกิดจากการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหา หรือเติมเต็มช่องว่างทางโอกาสที่ยังไม่มีใครเคยเห็น โดยตัวชี้วัดสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตและไปต่อได้ คือ แหล่งเงินทุน (Startup Funding) วงจรการเติบโตของธุรกิจ (Startup Funding Lifecycle) มีหลายขั้นบันได (Stages) โดยอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก (Round) ได้แก่ ระยะเริ่มต้น (Seed Round) และ ระยะเติบโต (Series A, B, C)

1. ระยะเริ่มต้น (Seed Round)

Seed ตรงตัวคือเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต้องอาศัยการบ่มเพาะเพื่อเจริญเติบโต และวิธีการบ่มเพาะเลี้ยงดูเป็นปัจจัยสำคัญต่ออัตราการเติบโตของเมล็ดพันธุ์นั้น ๆ ดังนั้น ในระยะ Seed Round เม็ดเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่สตาร์ทอัพทุกรายต้องการในการเริ่มก่อตั้งบริษัท

ในระยะนี้ สตาร์ทอัพที่นักลงทุนให้ความสนใจคือกลุ่มที่กำลังจัดตั้งบริษัท (Basic & Early Stage) ที่มีไอเดียธุรกิจ มีสินค้าหรือบริการที่อยากจะพัฒนาเข้าสู่ตลาดให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เงินทุนส่วนมากจึงอยู่ในส่วนการทำวิจัยตลาด (Market research) การจ้างงานผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในช่วงต้น (Early product development) เป็นหลัก จำนวนเงินที่เหล่าสตาร์ทอัพได้รับอยู่ที่ประมาณ 50,000 เหรียญสหรัฐ – 2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.5 ล้านบาท ถึง 66 ล้านบาท

แหล่งเงินลงทุนของ Seed Round มาจากหลายช่องทาง เช่น ครอบครัวและเพื่อน Crowdfunding, Angel investors, Incubators และ Venture Capital Firms (ธุรกิจที่เชื่อมนักลงทุนร่วมลงทุนสนับสนุน สตาร์ทอัพ) โดยส่วนมาก Angel Investors จะเป็นผู้ลงทุนหลักใน Early-stage Startup

จำนวนเงินที่สตาร์ทอัพจะได้รับอยู่ที่ประมาณ 1 - 60 ล้านบาท ในการได้เงินลงทุนนั้นสตาร์ทอัพต้องสร้างความน่าเชื่อถือแก่นักลงทุน โดยมีแผนงานที่ชี้แจงว่าจะนำเงินลงทุนที่ได้รับไปใช้จ่ายกับการดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่า เงินทุนก้อนดังกล่าวจะมีโอกาสเติบโตคู่ไปกับธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ Seed Round ประกอบด้วยบริษัทที่มีมูลค่าแตกต่างกัน จึงมีการแตกกลุ่มย่อยใน Seed Round ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.1. Pre-seed Funding

เป็นขั้นตอนที่เริ่มจาก ไอเดียธุรกิจ (Business ideas) โดยที่สตาร์ทอัพเข้าเสนอไอเดียธุรกิจให้แก่นักลงทุน ในระยะนี้ถือว่าเป็นระยะที่มีการคิดหาทางออก (Solutions) ที่จะมาแก้ปัญหา (Pain point) บางอย่างของกลุ่มคนนั้น ๆ

1.2. Seed Funding

สตาร์ทอัพในขั้นนี้ถือว่ามีการดำเนินการเริ่มสร้างธุรกิจสินค้าบริการ (Product or Service) ของตัวเองไปได้บางส่วนแล้วและมีการใช้ทรัพยากรตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง สินค้าบริการในขั้นนี้จะอยู่ในช่วงทดสอบกับตลาดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และรายละเอียดเพิ่มเติม (Feedback) ในการมาปรับปรุงพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายิ่งขึ้น

1.3. Pre-A Funding

เป็นขั้นตอนที่ตั้งเป้าหมายคือการเตรียมเข้าถึงแผนการตลาด และเพื่อต่อยอดการยกระดับกิจการ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นขั้นสำคัญที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้าถือหุ้นในสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยสตาร์ทอัพในการเข้าถึงตลาด สร้างรายได้ การดึงดูดจำนวนลูกค้า ผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาใช้บริการกับ สตาร์ทอัพนั้น ๆ (Traction) และเกิดเป็นสินค้าบริการที่ติดตลาด อุปสรรคที่ทำให้สตาร์ทอัพติดอยู่ในขั้นตอนนี้คือ ไม่สามารถหาผู้ลงทุนในระดับ Series A ได้ หรือสตาร์ทอัพบางรายอยากเก็บประสบการณ์ในการหาเงินลงทุนระดับ Seed Funding ก่อนที่จะไปหา Series A Funding

2. ระยะเติบโต (Series A, B, C)

2.1. Series A**

Series A funding ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของสตาร์ทอัพหลายราย เพราะการเข้าชิงเงินทุนสตาร์ทอัพนั้น ต้องแสดงให้เห็นแล้วว่า Business model ของบริษัทได้มีการนำไปใช้จริงแล้ว หรือเรียกว่าเกิด Minimum Viable Product ในตลาด (Go-to-Market Strategy) หรือสินค้าติดตลาดเป็นที่ต้องการได้สำเร็จ โดยแหล่งเงินสนับสนุนส่วนใหญ่หาได้จาก Venture Capitalists เงินทุนในขั้นนี้จะเป็นการใช้จ่ายในการปรับปรุงพัฒนา Final Product/Service เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเข้าขยายกลุ่มตลาดใหม่ต่อไปในอนาคต

2.2. Series B

ในขั้นนี้ หลังจากธุรกิจสตาร์ทอัพได้รับเงินทุนหลักจาก Venture Capitalists จะมีการปรับขยายให้ใหญ่ยิ่งขึ้นพร้อมเพิ่มฐานลูกค้า โดยส่วนใหญ่ธุรกิจจะนำเงินลงทุนไปซื้อธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (Buying-out Business) เพื่อต่อยอดธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

2.3. Series C

ธุรกิจสตาร์ทอัพในขั้นนี้ถือว่าเป็น การขยายฐานตลาดและขนาดธุรกิจในระดับนานาชาติ หรือในบางกรณีอาจมีการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนในภูมิภาคนั้น ๆ ทั้งนี้การที่ สตาร์ทอัพจะได้รับการระดมทุน (Startup Funding) ต้องมีการแข่งขันนำเสนอบริษัท (Startup Pitch) หลายๆ วิธีการ อาทิ การเสนอภาพรวมของธุรกิจ (Business Pitch) และการเสนอขายธุรกิจให้นักลงทุนสนใจในเวลาอันสั้น (Elevator Pitch หรือ Investor Pitch)

บทความนี้จึงได้สรุปรวบรวม Startup Funding Stages ตัวชี้วัดมูลค่าของธุรกิจ ตามตารางข้างล่าง ดังนี้ (แหล่งที่มา: Sajid A., 2019 and Ross J., 2019)

Funding Stage Pre-Seed(ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ) Problem Solution Fit Seed (สินค้าติดตลาดกลุ่มเป้าหมาย) Product Market Fit Pre-A (พัฒนาแผนสินค้าบริการและธุรกิจ) Product Market Fit Series A, B, C (ขยายการตลาดและธุรกิจ) Business Market Fit
บริษัทที่มูลค่าอยู่ระหว่าง $10K - $100K (3 แสนบาท – 3 ล้านบาท) $3 - $6 Million (90 – 180 ล้านบาท) Avg. $23 Million (600 ล้านบาท) $10 - $30 Million (300 – 900 ล้านบาท)
เงินทุนอยู่ประมาณที่ (Investment) $1M (น้อยกว่า 30 ล้านบาท) $1.7M (น้อยกว่า 55 ล้านบาท) $6.7M (น้อยกว่า 200 ล้านบาท) $10.5M (น้อยกว่า 330 ล้านบาท)
แหล่งเงินทุนจาก (Source) •เพื่อน ครอบครัว •Startup Owners •Angel Investors •Pre-seed Venture Capital Firms •Angel Investors •Venture Capitalists •Crowdfunding •Venture Capitalists •Accelerators •Super Angel Investors •Venture Capitalists •Accelerators
หุ้นที่นักลงทุนต้องการโดยเฉลี่ย 10-15% 10-25% - 15-50%
ควรนำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน (Best utilization of funds) การจ้างงานผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และแผนธุรกิจ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดและเพิ่มช่องทางการขยายตลาดใหม่


ข้อจำกัดในบทความนี้คือ ข้อมูลการค้นหาอ้างอิงจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ชัดว่า มูลค่า สตาร์ทอัพและจำนวนเงินลงทุน มีจำนวนสูงกว่าอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับ Startup Ecosystem ในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งเป็นภาครัฐในประเทศไทยและจัดอยู่ในกลุ่ม Angel Investor อีกด้วย

บทบาทของ depa ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีพันธกิจส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยให้แข็งแรงขึ้นจึงสอดรับกับแผนการพัฒนาปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" หรือด้วยการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติสำคัญเป็นอย่างน้อย ได้แก่ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ สู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม สู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

ทั้งนี้ การส่งเสริม Digital Startup ของ depa ทั้ง 7 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย AgTech, EdTech, FinTech, GovTech, HealthTech, TravelTech, Smart City และ Data Platform ส่วนเงินลงทุนของสตาร์ทอัพภายในประเทศไทยนั้น อ้างอิงจากเหล่าสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง depa และแหล่งทุนอื่น ๆ ในปี 2020 สามารถแบ่งได้ตามตารางข้างล่างนี้

Funding Stage Pre-Seed(ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ) Problem Solution Fit Seed (สินค้าติดตลาดกลุ่มเป้าหมาย) Product Market Fit Pre-A (พัฒนาแผนสินค้าบริการและธุรกิจ) Product Market Fit Series A, B, C (ขยายการตลาดและธุรกิจ) Business Market Fit
จำนวนสตาร์ทอัพประมาณ (ราย) 82 34 12 5
บริษัทมีมูลค่าโดยเฉลี่ย 7 ล้านบาท 43 ล้านบาท 180 ล้านบาท 410 ล้านบาท
เงินทุนโดยเฉลี่ย 9 แสนบาท 4 แสนบาท 11 แสนบาท 53 แสนบาท


จะเห็นได้ว่า ระดับกลุ่มเงินลงทุนของสตาร์ทอัพไทย แบ่งได้ตามช่วงการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น Pre-Seed stage เริ่มจากกระบวนการคิดสร้างไอเดียเพื่อนำมาแก้ปัญหาแก่ผู้ใช้ หรือตลาดเป้าหมาย จากนั้น เมื่อเริ่มเข้า Seed state เป็นช่วงนำไอเดียที่ได้ไตร่ตรองแล้ว มาเข้ากระบวนการสร้างสินค้าต้นแบบ (Prototype) พร้อมทั้งทำการพัฒนาทดลองสินค้าและบริการนั้น Pre-A stage จากการพัฒนาสินค้าจะทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาแผนธุรกิจตามมาด้วยเพื่อให้สินค้าตอบโจทย์ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้ยิ่งขึ้น Series A, B, C ในช่วงนี้จะได้รับข้อเสนอแนะ (Feedback) จากผู้ใช้สินค้าและบริการเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุง หรือเจอโจทย์ปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น และเกิดการขยายตลาดหรือสินค้าใหม่เพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจนั้น จึงทำให้มีโอกาสขยายฐานตลาดและขยายธุรกิจไปในระดับนานาชาติได้

สุดท้ายนี้ ต้องไม่ลืมว่าแม้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นหัวใจสำคัญ แต่การเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งคือการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในประเทศนั้น จำเป็นมากที่ต้องมีการร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งภาครัฐ เอกชน และแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ

โดย นางสาวกานต์หทัย สุริยะวรรณ

สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก: