ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงพฤติกรรมของคนที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยจากการสำรวจของบริษัท We are Social พบว่าในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 82% ของประชากรทั้งหมด จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป รูปแบบทรัพย์สินทางปัญญา (Copyright, Patent/ Petty Patent, Trademark, Trade Secret) ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบและสร้างความท้าทายต่อการการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาไปทั่วโลก หลายประเทศจึงดำเนินการปรับปรุงมาตรการและนโยบายด้านการคุ้มครองและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้ทันต่อบริบทของยุคสมัย และรูปแบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เปลี่ยนไปในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้การคุ้มครองและป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
การสร้างความตระหนักให้ประชาชนถึงความเข้าใจในทรัพย์สินทางปัญญา และความสำคัญของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้คนนิยมใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะด้านดิจิทัลกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว ในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความตระหนักด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดำเนินกิจกรรมที่ครอบคลุมตั้งแต่ การให้การศึกษา ให้ข้อมูล ให้ความรู้ ไปจนถึงการเปลี่ยนทัศนคติ โดยใช้วิธีสร้างความตระหนัก จัดตั้งแคมเปญ ให้การศึกษาในสถานศึกษา ไปจนถึงการสร้างสื่อเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ได้ส่งเสริมและช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการออกแบบกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือในการช่วยเพิ่มความตระหนักในด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในเยาวชน โดยเน้นให้เด็กและเยาวชนเข้าใจความสำคัญของ ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า ตัวอย่างเช่นโครงการ Respect for Trademarks ซึ่งสนับสนุนโดย Japan Patent Office ซึ่งเป็นคอร์สออนไลน์สำหรับเด็กอายุ 14-19 ให้เข้าใจบทบาทของเครื่องหมายการค้าในสังคมยุคปัจจุบัน และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาแบรนด์ในยุคปัจจุบัน เป็นต้น มีการผลิตสื่อเช่นการ์ตูนญี่ปุ่น แอนิเมชัน สำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีเนื้อหาสอดแทรกความรู้ ความตระหนักในความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ในประเทศอังกฤษ ยังมีการจัดตั้ง The Intellectual Property Awareness Network (IPAN) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรและบุคคลต่างๆ ในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อทรัพย์สินทางปัญญาในยุคปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่สื่อสารคำแนะนำข้อสรุปไปยังรัฐสภา กลุ่มเศรษฐกิจที่ดูแลเรื่องการสนับสนุน SME ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และกลุ่มการศึกษาที่ทำการให้ข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่เยาวชนและนักเรียนในระบบการศึกษาทั่วประเทศอังกฤษ และบรรจุการศึกษาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาลงในหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ เป็นต้น
การออกกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง รัดกุม และมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศนั้นๆ ได้ ประเทศที่มีการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ จากการจัดอันดับของ U.S. Chamber International IP Index ในปี 2018 ได้แก่ ประเทศ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน เยอรมัน และญี่ปุ่น การที่มีกฎหมายคุ้มครองที่เข้มแข็ง และมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามั่นใจในระบบการคุ้มครองทรัพย์สินปัญญาในประเทศนั้นๆ ว่าการจดทะเบียนหรือการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือผลงานใดๆ จะได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม รวมถึงทำให้คนทั่วไปมีความตระหนัก เห็นถึงคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา เข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดหากตนเองละเมิดกฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ส่งผลให้การละเมิดกฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาลดลง ตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลิขสิทธิ์ (Copyright Act) ปี 1985 ที่ทำให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอิสราเอล โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถได้รับการคุ้มครองทางสิทธิบัตรได้ และไม่นานมานนี้ รัฐบาลยุโรปเพิ่งเห็นชอบในหลักเกณฑ์ให้ซอฟต์แวร์สามารถได้รับการคุ้มครองทางสิทธิบัตรได้ และในอังกฤษมีการเพิ่มบทลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดจาก 2 ปี เป็น 10 ปี และมีการแก้ไขปรับปรุง ยกเลิก กฏหมายที่ล้าสมัย ไม่ทันเทคโนโลยีและสังคม เช่น การแก้กฎหมายเกี่ยวกับการทำ data mining ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องมีการทำซ้ำข้อมูลให้ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการล้อเลียน (parody) ที่มีการนำเพลงต้นฉบับมาดัดแปลงเพื่อความบันเทิง ให้ถือเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไฟล์ต้นฉบับ โดยถือเป็นการให้คุณค่าแก่เรื่องวัฒนธรรมและอารมณ์ขัน เป็นต้น นอกจากนี้ ในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการปรับกฏหมายทางด้านลิขสิทธิ์ให้เข้ากับประเด็นในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้มีการเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องได้ส่งประเด็นต่างๆ ด้านลิขสิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ในหัวข้อ เช่น การเก็บ cache การทำ index และฟังก์ชันอื่นๆ ของอินเทอร์เน็ต ระบบคลาวด์ การแปลงข้อมูลและเอกสารให้อยู่ในรูปดิจิทัล การทำ data mining เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับกฎหมายทางด้านลิขสิทธิ์ให้เหมาะสมต่อไป
ในทางตรงข้าม หากกฎหมายทางทรัพย์สินทางปัญญาไม่เข้มแข็ง ครอบคลุม และการบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา ตัวอย่างเช่นในประเทศจีน กฎหมายเรื่องการคุ้มครองงานออกแบบมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างจำกัด จึงส่งผลให้มีสิทธิบัตรที่มีมูลค่าต่ำจำนวนมาก และกฎหมายไม่มีการคุ้มครองการออกแบบที่ไม่ได้ลงทะเบียน รวมถึง partial design จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านการออกแบบจำนวนมาก
การที่มีองค์กรที่คอยสอดส่อง ตรวจสอบ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และประสานกับหน่วยงานภาครัฐในการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อพบว่ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สร้างผลงาน ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ตัวอย่างเช่น Motion Picture Association in America (MPAA) ซึ่งเป็นสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนต์และโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนต์และโทรทัศน์ทั่วโลก ในการสนับสนุนและปกป้องอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงการจัดตั้ง The Film Security Office เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ จากการทำงานของ MPAA ส่งผลให้เกิด Pro-IP Act ซึ่งเป็นกฎหมายป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์แรกของสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 21 และมีการรวมกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมเพื่อก่อตั้ง The Alliance of Creativity and Entertainment (ACE) เพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ขึ้น
การป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจำกัดการใช้งานของทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบดิจิทัล เช่น การจัดการสิทธิดิจิทัล Digital Rights Management หรือ DRM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล โดยที่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ผู้เผยแพร่ ผู้ถือลิขสิทธิ์ ทำการจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึง ใช้งาน ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ซอฟต์แวร์ ไฟล์เพลง ไฟล์ภาพยนตร์ ตัวอย่างเช่นไฟล์เพลงที่ซื้อจาก iTunes Store ที่กำหนดให้ผู้ซื้อสามารถฟังได้จากอุปกรณ์ iPod, iPhone เท่านั้น เป็นต้น หรือการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อช่วยป้องการปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นบริษัท Custos Media ซึ่งเป็น Startup ที่นำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาช่วยติดตามการใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบดิจิทัล เช่น ภาพยนตร์ eBook หรือเพลง เพื่อป้องการการใช้งานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ เป็นต้น
ในอุตสาหกรรมดนตรีที่การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงและภาพยนตร์ผ่านทางช่องทางออนไลน์กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ยากต่อการควบคุม การเปลี่ยนรูปแบบโมเดลธุรกิจของเจ้าของลิขสิทธิ์ ศิลปิน และผู้สร้างหนัง ได้กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ตัวอย่างเช่น ศิลปินที่เปลี่ยนรูปแบบการหารายได้จากผลงาน จากการขายเพลง เป็นการหารายได้จากการขายบัตรการแสดงคอนเสิร์ต และขายลิขสิทธิ์ในการผลิตสินค้า บริการ หรือของที่ระลึกแทน เป็นต้น หรือการเปลี่ยนรูปแบบการขายผลงานเป็นรูปแบบบริการ streaming เช่น Netflix, Spotify หรือ Apple Music ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องระวังคือ ระบบอนุญาตใช้สิทธิ (Licensing) ของดนตรีที่ล้าหลัง ตามเทคโนโลยีไม่ทัน จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ และการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ให้บริการ streaming เช่น Spotify, Apple Music เป็นต้น
การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ผู้ถือสิทธิ์สามารถสร้างมูลค่าจากทรัพย์สินทางปัญญาที่มี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่กระตุ้นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา จากการจัดอันดับของ U.S. Chamber International IP Index ในปี 2018 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน อิสราเอล และประเทศญี่ปุ่น โดยในประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลได้จัดโปรแกรมส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา โดยมุ่งเน้นการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ในหลายประเทศยังมีการออกนโนบายเพื่อส่งเสริมผู้สร้างนวัตกรรมให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ในประเทศอังกฤษ ได้มีการสร้าง Copyright Hub เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการใช้งานผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ให้การขอใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ง่ายและมีค่าใช้จ่ายไม่สูง ในประเทศมาเลเซียที่ได้เน้นย้ำถึงการใช้งานของทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์ในแผนนวัตกรรมแห่งชาติ และในประเทศซาอุดิอารเบีย ซึ่งใช้ Technology Transfer Framework ในการส่งเสริมพัฒนาสตาร์ทอัพและศูนย์วิจัยแห่งชาติ เป็นต้น
การส่งเสริมการจดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ ก็สามารถช่วยส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศได้ ตัวอย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่น Japan Patent Office (JPO) ได้มีการช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นในการจดสิทธิบัตร ในสหรัฐอเมริกา โดยร่วมมือกับ United States Patent and Trademark Office (USPTO) โดยมีการทำความร่วมมือในการการประเมินสิทธิบัตรร่วมกัน ระหว่าง JPO USPTO และบริษัทด้านทรัพย์สินทางปัญญาระดับโลก และมีการร่วมมือกันเพิ่มคุณภาพของการประเมินสิทธิบัตร
อินเทอร์เน็ตทำให้การเข้าถึงธุรกิจและบริการสามารถทำได้อย่างไร้พรมแดน อย่างไรก็ดี การบริการออนไลน์หลายประเภทโดยเฉพาะการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น การให้บริการฟังเพลงและชมภาพยนตร์แบบ streaming เกมส์ออนไลน์ และอีบุ๊ค จะมีการกำหนดพื้นที่การให้บริการด้วยระบบ Licensing ซึ่งจะจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการให้เฉพาะคนที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จึงได้มีการรวมกลุ่มกัน จัดตั้ง Digital Single Market ซึ่งทำให้คนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถใช้บริการด้านดิจิทัล เช่น บริการความบันเทิงออนไลน์ ในกลุ่มประเทศ EU ได้อย่างไร้พรมแดน เป็นการขยายขนาดของตลาดการค้าออนไลน์ให้กว้างขึ้น เพิ่มรายได้จากการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนในประเทศสมาชิก และลดการละเมิดลิขสิทธิ์
จากประเด็นต่างๆที่กล่าวมานี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนภาคกฎหมาย และภาคอุตสาหกรรม ในการจัดทำแผนการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อให้ทันสมัยและครอบคลุมต่อประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและสังคมในยุคดิจิทัล เป็นการส่งเสริมการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล ให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป