เกาะหมาก ตั้งอยู่ตำบลเกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติสวยงาม เงียบสงบ ปลอดภัย และเป็นต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco-Tourism) คาร์บอนต่ำ (Low carbon destination) ที่มีการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council)
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและความยั่งยืน ตามเกณฑ์ GSTC หนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างประโยชน์ต่อธุรกิจและชุมชนในท้องถิ่น โดยสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ควบคู่กันไป ตัวอย่างเช่น โรงแรมฮิลตัน ได้นำแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Lightstay มาใช้เพื่อติดตามข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแบบเรียลไทม์ ได้แก่ พลังงาน คาร์บอน น้ำ ของเสีย และตัวชี้วัดกระทบทางสังคม รวมทั้งการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจในเครือซึ่งมีอยู่ทั่วโลกเกือบ 6,000 แห่ง ซึ่งทำให้ธุรกิจเกิดการลดต้นทุนและการใช้พลังงานในขณะที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
ภาพที่ 1 Lightstay Dashboard
ที่มา: https://www.ei3.ca/lightstay-ei3-energy-management-solution-saves-hilton-1-billion/
เกาะหมาก มีเป้าหมายพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์ GSTC และมีการริเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าประยุกต์ใช้ในการพัฒนาดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดย ณ ปัจจุบัน มุ่งเน้นในประเด็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเลี้ยงคนบนเกาะ การกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการขนส่งอาหารจากฝั่งมาทางเรือ โดยขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า จัดทำ 2 โครงการนำร่องบนเกาะหมากในปี 2563-2564 ได้แก่
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก จ.ตราด ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากดีป้า เพื่อนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ Internet of Things: IoT มาใช้บริหารจัดการภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ และช่วยเพิ่มปริมาณไข่ไก่ โดยติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ 1 ระบบ และระบบควบคุมการให้น้ำ อาหาร อัตโนมัติ 1 ระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต “ไข่ไก่” ซึ่งมีความต้องการบริโภคมากกว่า 20,000 ฟองต่อเดือน และเป็นแหล่งโปรตีนหลักที่เลี้ยงคนบนเกาะทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยโครงการดังกล่าว ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนบนเกาะ สร้างโอกาสในการบริโภคโปรตีนคุณภาพดี ปลอดภัย และราคาถูก ลดความสูญเสียคุณค่าจากความร้อนระหว่างการขนส่ง และลดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากจากการขนส่งทางเรือ นอกจากนี้ โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก จะเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติให้กับชาวบ้านบนเกาะหมากและนักท่องเที่ยวในการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมาเก็บผลผลิต นำไปใช้ในการเรียนทำอาหารไทย (Koh Mak Cooking School)
ภาพที่ 2 ผลสำเร็จการจัดทำโครงการฟาร์มไก่ไข่ฯให้กับวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก จ.ตราด
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคตะวันออก
บริษัท เกาะหมาก รีสอร์ท จำกัด ซึ่งเป็นรีสอร์ท ที่มีสวนเกษตร 10 ไร่ เพาะปลูกผักให้กับลูกค้าที่มาพักได้มีผักปลอดภัยบริโภค ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากดีป้า เพื่อนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ Internet of Things: IoT- Smart Farm มาใช้บริหารจัดการฟาร์มผัก โดยติดตั้งระบบการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และการให้น้ำในแปลงผัก แบบอัตโนมัติสั่งการผ่านมือถือ พร้อมระบบวางแผนบริหารจัดการฟาร์ม จำนวน 1 ระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีเพียงพอต่อการบริโภคของรีสอร์ท และสามารถมีผลผลิตคงเหลือที่นำมาแบ่งปันจำหน่ายให้กับชาวบ้านบนเกาะได้บริโภคด้วย พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะให้กับคนบนเกาะหมากและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเกาะหมาก
ภาพที่ 3 ผลสำเร็จการจัดทำโครงการเกษตรอัจฉริยะ ให้กับบริษัท เกาะหมาก รีสอร์ท
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคตะวันออก
เกาะหมาก นับเป็นต้นแบบเกาะท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์-คาร์บอนต่ำ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ โดยขับเคลื่อนด้วยคนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามเกณฑ์ GSTC และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีคุณค่าครบรสทั้ง “ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี” ซึ่งการพัฒนายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นระบบให้กับพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนเกาะหมากให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดย นางสาวจารุวรรณ เจตเกษกิจ, นางสาวณัฐกุล อาชาเทวัญ และนางสาวอัญธิกา วิมุกตานนท์
สาขาภาคตะวันออก
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: