“Hello World” คำที่เปลี่ยนโลกอนาล็อกให้เป็นดิจิทัล “Covid-19” คำที่จะเปลี่ยนโลกอีกครั้ง!!
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรวม 21.83 ล้านคน เสียชีวิตรวม 773,032 คน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 3,378 คน พบรายใหม่เพิ่ม 1 คน เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศที่พักอยู่ใน State Quarantine และมีผู้เสียชีวิตรวม 58 คน (ข้อมูลประจำวันที่ 17 ก.ค.63 https://www.thaigov.go.th)
การแพร่ระบาดของ “COVID-19” ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม การดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม การดำรงชีวิตในอนาคตนอกจากจะต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย ยังต้องต้องเรียนรู้ที่จะ “อยู่” ด้วยความระมัดระวัง ทั้งจากโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ภัยพิบัติ และวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์เพิ่มขึ้นและสะสมจนเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก หรือภาวะโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้กลไกการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบบรรยากาศหมดไป การบุกรุกและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสิ้นเปลือง ขยะ และน้ำเสีย ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลเกิดความผิดปกติ เกิดโรค และสูญพันธ์
ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป มีมาตรการจำกัดการเดินทาง มาตรการปิดแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ธรรมชาติและระบบนิเวศได้รับการฟื้นตัวเป็นการชั่วคราว จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณลดลงราวร้อยละ 4-8 การทิ้งขยะ และการปล่อยน้ำเสียตลอดแนวชายฝั่งลดลง ดังจะเห็นได้จากภาพข่าวในต่างประเทศ พบว่ามีสัตว์ป่า อาทิ สิงโต กวาง แมวบอบแคต หมาป่าไคโยตี้ ออกมาให้พบเห็นตามอุทยานแห่งชาติ เมือง สวนสาธารณะ หรือบริเวณบ้านคน
ภาพที่ 1 ภาพข่าวสัตว์ป่าในต่างประเทศ
ที่มา: Deer graze on the lawns of a housing estate in Harold Hill, East London. (BEN STANSALL/AFP/Getty Images)
สำหรับประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ข้อมูลว่ามีการพบเห็นพืช และสัตว์ป่า/สัตว์สงวนหลายชนิด เช่น อุทยานภูซาง จังหวัดพะเยา พบว่าพืชพันธุ์ไม้หายากกลับมาเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าต่างๆ เช่น หมูป่า กระรอกบิน ผีเสื้อชนิดต่างๆ เลียงผา ปรากฏตัวให้เห็นได้บ่อยครั้งโลมา วาฬ ปลาฉลามหูดำออกมาว่ายน้ำเป็นฝูงใหญ่ ปลาพะยูนกินหญ้าทะเลที่เจริญงอกงามนับสิบตัว เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บนชาดหาดมากที่สุดในรอบ 20 ปี ภาพเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ภาพที่ 2 ภาพสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ที่มา: https://www.facebook.com/NationalPark.Interpretation/
แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังได้ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อาทิ การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะหน้ากากอนามัย ขยะติดเชื้อ ขยะพลาสติกจากการให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 ในเขตกรุงเทพมหานคร คิดเป็นปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2,120 ตันต่อวันในปี 2562 เป็นประมาณ 3,440 ตันต่อวัน ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน 2563
สิ่งที่ควรตระหนักหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว โรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง ปริมาณขยะและขยะพลาสติกจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ธรรมชาติและระบบนิเวศจะมีความยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันในอนาคตได้อย่างไร ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมีส่วนช่วยให้การใช้ทรัพยากร ธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น การลดใช้พลังงาน และกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน
ประเทศไทยมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เริ่มจากการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล และทรัพยากรทางทะเล การสร้างความเข้าใจถึงความเชื่อมโยง เกี่ยวข้องของการใช้ชีวิตประจำวันกับการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถสร้างผลกระทบได้มากมาย โดยการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชน เช่น สำนักอุทยานแห่งชาติกับการรณรงค์การท่องเที่ยววิถีใหม่, สสส. กับภารกิจมอบของขวัญให้โลก #Greenery Challenge, ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ให้ข้อมูลการกำจัดขยะ และการสร้างรายได้จากการบริหารจัดการขยะที่ดี และโครงการ "little big green" กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด "As Green As You Can" เป็นต้น
นอกจากนี้ในส่วนของการท่องเที่ยวยังได้มีการปรับรูปแบบการท่องเที่ยว โดยใช้แอพพลิเคชันมาช่วยในการลงทะเบียนเพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และแจ้งเตือนเมื่อมีนักท่องเที่ยวหนาแน่น เช่น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ออกมาตรการการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ “New Normal National Park” เปิดให้จองตั๋วเที่ยวพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 155 แห่ง ผ่านแอปพลิเคชั่น “QueQ” เป็นต้น การท่องเที่ยวรูปแบบ virtual เช่น พิพิธภัณฑ์ online 360 องศา, reality game online เพื่อติดตามดูชีวิตสัตว์ป่าแบบ real time อาทิ กอลิร่า/ชิมแพนซี และ The Internet of elephant มูลนิธิบอร์เนียวฟาวเดชั่น (อินโดนีเซีย) เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น การกำหนดช่วงเวลาปิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อให้ได้รับการฟื้นฟู การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Quality Tourism) การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและเกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การกำหนด checklist พฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้รักษานิเวศ และธรรมชาติไม่ให้ถูกรบกวนมากจนเกินไป
จะเห็นได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นทั้งวิกฤต และโอกาส ให้ได้ทบทวนสถานการณ์และพฤติกรรมที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้ หากเราให้เวลาและรู้จักปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพึ่งพาอาศัย เป็น “วิถีชีวิตปกติใหม่” ที่คำนึงถึงสภาวะแวดล้อมมากขึ้น เป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงาน/พลังงานทดแทน การกำจัดขยะและมลพิษต่าง ๆ การคิดค้นวัสดุทดแทน และโอกาสอื่นๆ อีกมากมาย
ธรรมชาติเป็นเรื่องของทุกคน เริ่มจากตัวเรา สังคมของเรา กับสิ่งง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ลดการใช้วัสดุ single use ปลูกฝังทัศนคติการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าและเกิดประโยน์สูงสุด และเมื่อสิ่งง่ายๆ เหล่านี้ กลายเป็น “วิถีชีวิตปกติใหม่” ในที่สุดเราก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
โดยนางวนิตา บุญภิรักษ์
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
แหล่งข้อมูล/อ้างอิง