ในปี 2022 เทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่นิยมและผู้คนมากมายเริ่มหันมาให้ความสนใจคงหนีไม่พ้น คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) NFT และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) จนถึงขั้นที่ว่า ข้อมูลสถิติที่ถูกรวบรวมและประมวลผลโดยเว็บไซต์ DataReportal.com ได้เปิดเผยข้อมูลรายงาน Digital 2022 Global Overview พบว่าคนไทยถือครอง คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) มากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีสัดส่วนการถือครองมากถึง 20.1% มากกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 10.2% ดังภาพที่ 1 และหากพิจารณาข้อมูล Insight พบว่าผู้ถือครอง คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ช่วงอายุ 25 – 34 ปี ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 1 สัดส่วนการถือครอง คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ทั่วโลก
ที่มา : https://datareportal.com/reports/digital-2022-global-overview-report
ภาพที่ 2 สัดส่วนการถือครอง Cryptocurrency ในประเทศไทย แบ่งตามเพศและอายุของผู้ถือครอง
ที่มา : https://datareportal.com/reports/digital-2022-thailand
ในบทความนี้จึงจะพาผู้อ่านเข้ามาทำความเข้าใจ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) NFT และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ว่าคืออะไรและมีความแตกต่างกันอย่างไร บทความนี้จะร้อยเรียงเรื่องราวของ เทรนด์เทคโนโลยียอดฮิตเหล่านี้ให้เข้าใจง่าย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้เล่นหน้าใหม่ที่อยากเข้าสู่แวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)
สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset คงจะถือเป็นคำที่ครอบคลุมทุกส่วนทรัพย์สิน เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงมูลค่าเหมือนสินทรัพย์ทั่วไป แต่เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถซื้อ - ขายแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของได้ โดย“ต้องไม่ผ่านตัวกลาง” และการไม่ผ่านตัวกลาง ก็ทำให้สามารถซื้อ - ขายสินทรัพย์เหล่านั้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงทั้ง 7 วัน แบบไม่มีวันหยุด
สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset ถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) โดยสามารถแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัลได้เป็น 2 ประเภท ผ่านการพิจารณาตามลักษณะของการใช้งานและสิทธิที่กำหนดไว้สำหรับผู้ถือ
1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency)
คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และสิทธิอื่นใด” โดยปัจจุบันมูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) จะเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามากำหนดหรือควบคุม ตัวอย่างคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันเช่น Bitcoin และ Ethereum
2. Digital Token ซึ่งแบ่งเป็น 5 ประเภทย่อย ได้แก่
2.1 Investment Token หรือ โทเคนเพื่อการลงทุน เป็นโทเคนที่สื่อถึงหน่วยลงทุน โดยโทเคนนี้จะแสดงสิทธิที่จะได้รับมาหรือมีกำไรเกิดขึ้น มีผลตอบแทนส่งกลับมาให้กับคนที่ถือเหรียญ ซึ่งรายละเอียดการลงทุนจะต้องศึกษาจาก Whitepaper ให้เข้าใจก่อน ว่าโทเคนนั้นทำหน้าที่อย่างไร โดย Investment Token เป็นการกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุน เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ สิทธิในผลกำไรจากการลงทุน เป็นต้น
2.2 Utility Token หรือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง เช่น เหรียญที่ให้สิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ หรือนำไปใช้แลกสินค้าในแพลตฟอร์มหรือโครงการ โดยสินค้าหรือบริการนั้นจะต้องพร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขาย
2.3 Security Token คือการนำของที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริงมาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของโทเคน หรือที่เรียกว่าการ Tokenize ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น หรือใช้เงินเริ่มต้นน้อยลง เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
2.4 NFT (Non-Fungible Token) สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่มีจุดเด่นคือไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ และจะมีชิ้นเดียวในโลกตามของสิ่งนั้นที่มีอยู่จริง โดยในช่วงแรกนิยมนำภาพวาด งานศิลปะ ประติมากรรม เพลง วิดีโอ เกม การ์ตูน ฯลฯ ที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผู้สร้างมาเปลี่ยนเป็น NFT เมื่อเราได้ครอบครอง NFT ของผลงานนั้นแล้ว เราสามารถซื้อขาย โอนย้ายกรรมสิทธิ์บนระบบ "บล็อกเชน" ระหว่างคนที่ต้องการซื้อและคนที่ต้องการขายแบบไม่มีคนกลาง เปิดโอกาสให้สามารถแลกเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญาให้คนที่สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเจ้าของผลงานได้รับประโยชน์จากผลงานของตัวเองด้วย
ดังนั้น หากจะให้ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกคือ สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset ถือเป็นประเภทของสินทรัพย์ ที่ประกอบไปด้วย คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และ NFT โดยคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ถือเป็น Fungible Token หมายถึง โทเคนที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะตัว ทุกโทเคนมีมูลค่าเท่ากัน เช่น หากมีคนมายืม Bitcoin ของเรา 1 เหรียญ เมื่อถึงกำหนดคืน ผู้ยืมสามารถคืนเหรียญ Bitcoin เหรียญใดก็ได้ เนื่องจาก Bitcoin มีลักษณะและมูลค่าเท่ากันในทุกเหรียญ แต่ NFT คือ Non-Fungible Token คือโทเคนที่มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ดังนั้น หากมีคนมายืม NFT เราไป เวลาคืนก็ต้องคืนเป็น NFT ชนิดนั้นเท่านั้น
NFT ส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นบน Ethereum (ซึ่ง Ethereum คือเครือข่าย Blockchain ที่เป็นแพลตฟอร์มให้เหล่านักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ หรือ Dapps (Decentralized Application)) ซึ่งสินทรัพย์ที่นำมาทำ Token นั้นอาจจะเป็นสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวอยู่แล้ว เช่น การ์ดเกม งานศิลปะ ของสะสม หรือแม้กระทั่งชื่อเสียงของศิลปินเอง ซึ่งเรื่องนี้เองเป็นความน่ามหัศจรรย์ของสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะรูปแบบของสินทรัพย์สามารถเป็นไปได้หลากหลายประเภทมาก
โดย NFT เป็นประโยชน์กับทั้งตัวผู้ซื้อ - ขายผลงาน เพราะนอกจากจะทำให้การซื้อขายของสะสมงานศิลปะ หรือของหายากที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลได้อย่างง่ายแล้ว ก็ยังเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุนที่สามารถซื้อขายทำกำไรโทเคนเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ และที่สำคัญหากมองไปถึงต้นทุนเรื่องความปลอดภัยและการเก็บรักษาแล้วนั้น การถือครองสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลอาจทำให้ต้นทุนการถือครองของนักลงทุน/นักสะสมลดลงด้วยเช่นกัน จนอาจเปลี่ยนแปลงวงการนักลงทุนและนักสะสมไปได้อย่างสิ้นเชิง
ด้วยความที่ NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่หนึ่งเดียว จึงเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนักสะสมเพราะให้ความรู้สึกว่าเขามีสิทธิพิเศษที่ได้ครอบครองของที่มีจำกัดและหายาก ซึ่ง NFT ที่เป็นที่นิยมมักอยู่ในวงการรูปภาพศิลปะ (หรือที่เรียกว่า Crypto Art) วิดีโอเกม กีฬา หรือแม้กระทั่ง ใน Twitter ดังที่เห็นจากผู้คนเข้าประมูลรูปภาพ “Everyday -- The First 5000 days” ที่เป็นเพียงแค่การปะติดปะต่อรูปภาพในชีวิตประจำวันของศิลปินติดต่อกัน 5,000 วัน แต่ก็ได้รับความสนใจล้นหลาม และได้รับเงินประมูลสูงถึง 69 ล้านดอลลาร์ เพราะคนให้คุณค่ากับความตั้งใจของศิลปิน หรือมองว่าไม่มีใครถ่ายรูปได้เหมือนกับศิลปินคนนี้
ภาพที่ 3 รูปภาพ “Everydays -- The First 5000 days” โดย BEEPLE ที่มา: https://www.beeple-crap.com/viewing
หากจะพูดถึงความน่าเชื่อถือของ NFT ก็จะเปรียบเปรยถึงในโลกแห่งความเป็นจริง การที่เราจะซื้อบ้านสักหนึ่งหลังสิ่งที่เราจะได้คือ “โฉนดที่ดินและทะเบียนบ้าน” ซึ่งทั้ง 2 สิ่งเป็นหลักฐานที่เราสามารถยืนยันได้ว่าเราเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นจริง สามารถไปตรวจสอบในหน่วยงานราชการได้ว่าเอกสารที่เรามีนั้นเป็นของจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับ NFT ที่จะมีโทเคนที่เป็นสิ่งยืนยันกรรมสิทธิ์ ว่าผู้ถือโทเคนนั้นเป็นเจ้าของจริงหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบ “บล็อกเชน” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังในการช่วยทำธุรกรรมที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ในความเป็นจริงแล้ว NFT พึ่งได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับในบางวงการเท่านั้น แต่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีมูลค่าเงินหมุนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เป็นมหาศาล เริ่มมีตลาดซื้อขายเกิดขึ้นรองรับ มีผู้ซื้อที่มีกำลังเงิน และผู้ขายที่มีผลงาน ในอนาคตมีแนวโน้มอย่างสูงว่า NFT จะขยายตัวสู่วงการอื่นนอกเหนือจากศิลปะ เกม กีฬา ก็อาจนำนวัตกรรม NFT ไปพิจารณาสร้างเป็นตลาดซื้อขายได้ เช่น การซื้อขายโฉนดที่ดิน บ้าน หรือรีสอร์ทในรูปแบบ NFT จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในกระแสหลักได้เหมือนการซื้อขายสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ขณะเดียวกันก็เหมือนกับตลาดสินทรัพย์อื่นทั่วไป วันไหนที่ราคา NFT ขึ้นหลายล้านดอลลาร์ ก็ต้องมีสักวันหนึ่งที่ราคาตกได้เช่นกัน เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสที่คนจะไม่เชื่อในมูลค่าของผลงานได้ ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตคนเชื่อในสินทรัพย์ NFT มากเพียงใด
โดย นายพิพัฒน์ สมโลก
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: