บริการ
TH
EN
TH
CN

การออกแบบบริการรถขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในเมืองอัจฉริยะ

ปัจจุบัน สังคมเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทย กำลังประสบปัญหาด้านมลพิษจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กดังกล่าวยังสร้างผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กมีหลากหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหามลพิษจากเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในพื้นที่เมือง ทั้งจากยานยนต์ส่วนบุคลและระบบขนส่งสาธารณะ ที่สร้างปัญหาในหลายมิติให้แก่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นหนึ่งดัชนีสำคัญอันดับหนึ่งในการเป็นเมืองน่าอยู่ รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการการจัดเก็บข้อมูลและการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลในระดับเมืองนั้นจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลในหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่นั้น ดังนั้น การสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ง่ายและสะดวกกับผู้ให้ข้อมูลถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Realtime) เพื่อเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงประชาชนให้คนในชุมชนเกิดความตื่นตัว นำไปสู่แนวทางการประยุกต์ใช้เพื่อการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาจากเหตุดังกล่าวนั้น การผลักดันให้การเดินทางในพื้นที่เมืองใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่สามารถออกแบบการเดินทางได้ด้วยตนเอง กำหนดเส้นทางในการเดินทางได้ด้วยตนเอง ราคาที่มีมาตรฐาน บนพื้นฐานพาหนะที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการขับเคลื่อน แทนเครื่องยนต์จุดระเบิดภายใน จึงถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ควรจะนำมาปฏิบัติได้จริง โดยจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการกระบวนการจัดการนิเวศของระบบที่ให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่งสาธารณะในเขตพื้นที่เมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการสร้างความตระหนักในความสำคัญของการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเมืองในระดับท้องถิ่น ทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว

การพัฒนาการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะในเมืองมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่

  1. ผู้ให้บริการขนส่ง
  2. ผูู้ใช้บริการและผู้โดยสาร
  3. การเงินและการลงทุน
  4. หน่วยงานและองค์กรที่มีบทบาทและความรับผิดชอบ

โดยองค์ประกอบทุกส่วนต้องทำงานเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อให้สามารถตอบสนองปัญหาด้านความมั่นคงในการประกอบอาชีพของผู้ให้บริการ ความสามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างเท่าเทียมของผู้โดยสาร มีความเป็นไปได้ในการลงทุนและส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะ และมีการประเมินผลการดำเนินการผ่านหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแล (ดังรูปที่ 1 องค์ประกอบการพัฒนาสำหรับการเดินทางสาธารณะในเมือง)

รูปที่ 1
ภาพที่ 1 องค์ประกอบการพัฒนาสำหรับการเดินทางสาธารณะในเมือง (ที่มา: ข้อเสนอโครงการสมัครขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุน เพื่อเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund) โครงการ lomo การเดินทางอัจฉริยะ )

การออกแบบบริการรถขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในเมืองอัจฉริยะ จึงเป็นความท้าทายใหม่จะเป็นการสร้างรูปแบบการให้บริการใหม่ในการจัดการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะรูปแบบใหม่ ที่ใช้พื้นฐานการเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนประจำถิ่นในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์การจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดย รถสองแถว (Songthaew) เป็นระบบหลักของบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ชุมชนเมืองของประเทศไทยมานานไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่นในกรุงเทพมหานคร หรือหัวเมืองใหญ่อาทิ พิษณุโลก ขอนแก่น โคราช เชียงใหม่ เป็นต้น

ซึ่งให้บริการรถขนส่งสาธารณะในสภาพความเป็นจริง การกำกับดูแลการให้บริการของภาครัฐมีข้อจำกัด ทำให้รถสองแถวส่วนใหญ่มีการปรับตัวตาม กลไกของ อุปสงค์และอุปทานของแต่ละพื้นที่ จนทำให้ รถสองแถวบางส่วนไม่สามารถ ปฏิบัติตามที่ได้รับสัมปทานไว้ เช่นการให้บริการนอกพื้นที่ หรือคิดค่าโดยสารเกินความเป็นจริง ทำให้ ระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะในท้องถิ่นส่วนใหญ่ ลดคุณภาพจนถึงระดับที่สร้างปัญหาต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม เมืองเชียงใหม่ก็เป็นเมืองหลักเมืองหนึ่ง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของรถสองแถว หรือที่คนเมืองเรียกว่า “รถสี่ล้อ” หรือ “รถแดง” ซึ่งก็ประสบปัญหาด้านคุณภาพการบริการเช่นกัน อาทิเช่น ความไม่แน่นอนของค่าโดยสาร รวมถึงปัญหาพฤติกรรมการให้บริการของผู้ประกอบการที่เลือกใช้เส้นทางเดินรถที่ไม่แน่นอนทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถกำหนดเวลาในการเดินทางได้

รูปที่ 2
ภาพที่ 2 แสดงปัญหาที่เกิดขึ้นจากมุมมองของผู้ใช้บริการที่โพสต์ผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ที่มา: Facebook Page : ฟุทบาตไทยสไตล์

ทั้งนี้ การออกแบบบริการรถขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัยระบบช่วยการเดินรถไม่ประจำทางและรายงานการจราจรถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองโดยอาศัยการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลดิบที่ไหลเข้ามาสู่ระบบที่เกิดขึ้นตามเวลาจริง (Real Time) โดยจะถูกรวบรวมไว้เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จากนั้นจะถูกนำมาประมวลผลเป็นข้อมูลสารสนเทศ (Information) ที่สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการ (Management) และการให้บริการ (Services) ตลอดจนรวบรวมและจัดเก็บเป็นองค์ความรู้ (Knowledge) ได้ (ดังรูป)

รูปที่ 3
ภาพที่ 3 แสดงผลตัวอย่างของการออกแบบบริการรถขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในเมืองอัจฉริยะ ที่มา: Orchestrating infrastructure for sustainable Smart Cities, 2014.

สำหรับการจัดทำระบบการเดินรถโดยสารไม่ประจำทางและรายงานการจราจรอัจฉริยะอาศัยการเชื่อมต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักร มนุษย์ และข้อมูล (Internet of Things) เพื่อเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจที่รวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำสูง โดยที่ข้อมูลที่ไหลเข้ามาสู่ฐานข้อมูลและระบบประมวลผลจะใช้ตรวจวัดตัวอุปกรณ์ และสภาพแวดล้อม เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการรายงานผลได้อย่างทันที เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่

  1. เทคโนโลยีที่ช่วยรับรู้ข้อมูล เช่น Traffic Image Processing
  2. เทคโนโลยีที่ช่วยในการสื่อสาร เช่น ระบบสมองกล และการสื่อสารแบบไร้สาย และ
  3. เทคโนโลยีที่ช่วยประมวลผลข้อมูล เช่น เทคโนโลยีการประมวลผลแบบคลาวด์ เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ data analytic และ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

รูปที่ 4
ภาพที่ 4 แสดงผลตัวอย่างของการออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัลในเมืองอัจฉริยะเพื่อใช้ในการออกแบบบริการ ที่มา: Designing for Manufacturing’s ‘Internet of Things’, 2014.

จากรายละเอียดที่ระบุข้างต้น ปัญหาด้านประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในระดับท้องถิ่น การเข้าถึงข้อมูลด้านการเดินทาง และวิธีการของทางเลือกในการเข้าถึงการบริการ จึงเป็นปัญหาพื้นที่ฐานในระดับท้องถิ่นที่สร้างผลกระทบทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ระดับชาติ ปัญหาพื้นฐานของสังคมที่กล่าวมานั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบปัญญาประดิษฐ์ และการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้พยายามพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของตนเองอย่างต่อเนื่อง หากแต่ยังขาดปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเดินทางที่สร้างผลในระดับจังหวัด ปัจจัยด้านการลงทุนของภาคเอกชน และปัจจัยการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาให้เกิดรูปแบบการอำนวยความสะดวกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่

ดังนั้น แผนงานการออกแบบบริการรถขนส่งสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลในเมืองอัจฉริยะ เพื่อยกระดับการเดินทางอัจฉริยะในท้องถิ่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความจำเป็น และมีความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันพัฒนาและส่งเสริมพื้นที่ (Platform) กลางในการแก้ไขปัญหาด้านการเดินทางในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ เพราะระบบเทคโนโลยีการบริการขนส่งสาธารณะที่ดีจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนคมนาคมของภาครัฐ ลดภาระการก่อสร้างถนน ลดปัญหามลพิษและฝุ่นควัน เสริมสร้างศักยภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การลงทุนเชิงพาณิชย์และสร้างผลกำไรได้อย่างก้าวกระโดด และเป็นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองเชิงฐานรากอย่างแท้จริง เหล่านี้จึงเป็นความสำคัญเหตุผลสำคัญอย่างยิ่งที่จะร่วมกันพัฒนาเพื่อแก้ไขบาดแผล (Pain Points) ของเมืองอย่างยั่งยืนและบูรณาการสืบไป

โดยชฎาธช จันทนพันธ์

สาขาภาคเหนือตอนบน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก :

  1. รายละเอียดข้อเสนอโครงการสมัครขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุน เพื่อเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund) โครงการ lomo การเดินทางอัจฉริยะสำหรับ