ในช่วงไม่นานมานี้หลายคนคงได้ยินคำว่า Sandbox บ่อยขึ้น ไม่ว่าจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า Sandbox คืออะไร บทความนี้จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นมา กรณีศึกษาของต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินการในประเทศไทย ความท้าทายที่เกิดขึ้นและข้อเสนอเสนอแนะ
Sandbox คืออะไร และสำคัญอย่างไร
จุดเริ่มต้นของ Sandbox เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 1970 โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ที่ศึกษาโครงสร้างของ AI แอปพลิเคชันได้ทำการทดสอบโค้ดที่คิดค้นขึ้น ซึ่งกำหนดพื้นที่ทดสอบในระดับของผู้ใช้งานเท่านั้น ไม่เข้าถึงกลไกเชิงลึกเพราะอาจสร้างความเสียหายให้ทั้งระบบได้ เป็นผลให้ต่อมา การทำ Sandbox เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมักถูกใช้ในบริบทเป็น feature หนึ่งที่ใช้เป็นพื้นที่ในการทดลองโปรแกรมใหม่ของแอปพลิเคชัน หรือ ซอฟต์แวร์โปรแกรมต่าง ๆ เพื่อทดสอบว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น ใช้งานได้จริงหรือไม่ เพื่อรับรู้ถึงปัญหา อุปสรรค สามารถแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้จริง และลดความเสี่ยงหากมีผลกระทบแง่ลบในวงกว้าง
ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก หลายแนวคิดมีศักยภาพที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตหรือการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทำให้ชีวิตมนุษย์ง่ายยิ่งขึ้น จาก Global Innovation Index โดย World Intellectual Property Organization (WIPO) ปี 2021 ดัชนีด้านนวัตกรรมของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก และจากข้อมูล Global Startup Ecosystem Index 2021 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 50 ของดัชนีระบบนิเวศของสตาร์ทอัพและมีถึง 4 เมืองใหญ่ที่มีระบบนิเวศที่ดีที่สุดในโลก จะเห็นได้ว่านวัตกรรมและสตาร์ทอัพของไทยมีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางและความเร่งเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมในการเติบโตแบบส่งเสริมกัน
อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปสรรคใหญ่ของประเทศไทยคือระเบียบและกฎเกณฑ์ของภาครัฐไม่ได้ก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ผู้คิดค้นผลงานเหล่านี้ไม่สามารถให้แสดงศักยภาพจริงได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมี Sandbox เป็นพื้นที่ให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้นำมาทดลองใช้ ซึ่งเปรียบเหมือนกระบะทรายที่ให้เด็กได้หัดเล่น หัดเดินในพื้นที่ที่กำหนด โดยพื้นทรายจะลดอุบัติเหตุและผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ในสนามเด็กเล่นขนาดเล็กนี้ได้
Regulatory Sandbox
การจะสร้างเทคโนโลยีใด ๆ ขึ้นมา การทดลองระบบที่กล่าวไปข้างต้นมีความจำเป็นอย่างมาก แต่สิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นตัวแปรที่ควบคุมได้ง่ายกว่าเนื่องจากระบบสามารถแก้ไขโดยคนในองค์กร แต่ปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมและเปลี่ยนแปลงได้คือระเบียบและกฎเกณฑ์ของรัฐหรือหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งเป็นอุปสรรคฉุดให้เทคโนโลยีเหล่านั้นไม่สามารถแสดงศักยภาพจริงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งเราก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าเทคโนโลยีนี้มีประโยชน์ และช่วยแก้ไข Pain Point ได้ แต่ก็ติดตรงที่ว่ากฎหมายไม่เอื้อ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีแนวคิด Regulatory Sandbox เพื่ออุดช่องโหว่นี้ โดยผ่อนปรนข้อปฏิบัติและระเบียบบางประการ เพื่อให้ความคิดและผลิตภัณฑ์ใหม่สามารถเกิดขึ้นได้
กรณีศึกษา Regulatory Sandbox ในประเทศเกาหลีใต้
กรณีศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการยอมรับว่ามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลก โดยได้รับการพัฒนาจากภาคเอกชนและภาครัฐ เห็นได้จากนโยบายสนับสนุน Regional Innovation โดยอนุญาตให้ทำ Regulatory Sandbox ซึ่งหลังจาก 6 เดือนของการสนับสนุน ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม 2019 พบว่ามี 81 โครงการที่เข้าร่วม Regulatory Sandbox มีความเกี่ยวข้องกับด้านการเงินมากที่สุดถึงร้อยละ 46 และ Industrial Convergence ร้อยละ 32 และ ICT ร้อยละ 22 ตามลำดับ และสถิติที่สำคัญคือโครงการที่เข้าร่วม Regulatory Sandbox มากที่สุดมาจาก SME และสตาร์ทอัพ ในรูปแบบธุรกิจการทำแบบ Application-based
เดือนกรกฎาคม ปี 2019 ประเทศเกาหลีใต้มีการคัดเลือดและกำหนด 7 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่ผ่อนปรนระเบียบ กฎเกณฑ์ ภายใต้โปรเจค 1st regulation-free special zone โดยกำหนดให้จังหวัดนั้น ๆ สามารถผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในประเด็นและมีโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เมืองปูซานถูกเลือกให้ส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งวางแผนทำ Decentralized Identifier (DID) โดยการใช้ Mobile Application ในการยืนยันข้อมูลบุคคล รับส่งและยืนยันข้อมูลบุคคลในการติดต่อและรับบริการจากภาครัฐในรูปแบบบัตรประชาชนดิจิทัล ซึ่งสามารถใช้ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการในพื้นที่และใช้เป็นหลักฐานในการรับสวัสดิการของตนเองและครอบครัวจากทางภาครัฐ รวมทั้งวางแผนจะต่อยอด Application เพื่อใช้ในการชำระเงินในพื้นที่ปูซานอีกด้วย
อาจสรุปได้ว่าจากกรณีศึกษาของประเทศเกาหลีใต้สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีการดำเนินการทำ Regulatory Sandbox ในประเทศไทย และสนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่าการเติบโตของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันและการทำ Regulatory Sandbox เป็นตัวแปรสำคัญที่จะยกระดับไปสู่ความสำเร็จ
Regulatory Sandbox และประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยก็มีความพยายามในการทำ Regulatory Sandbox โดยภาครัฐริเริ่มกิจกรรมส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำเสนอ Solution ในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ดีป้า มีหนึ่งในภารกิจหลักของหน่วยงานคือการเพิ่ม Deal Flow ให้สตาร์ทอัพไทยรวมทั้งผลักดันให้เข้าสู่ตลาดภาครัฐ มากขึ้น
อีกทั้งสถาบันฯ มีโอกาสเป็นเจ้าภาพโดยร่วมดำเนินการกับกรมสรรพากรจัดกิจกรรม HACKATAX Thailand’s First Senior-level Hackathon การระดมความคิดจากสตาร์ทอัพด้านการเงินชั้นนำของเมืองไทย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐและเอกชน ภายใต้หัวข้อ “ภาษีไทย ถูกใจประชาชน” ระหว่างวันที่ 11 - 13 กันยายน 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาความซับซ้อนของขั้นตอนการยื่นภาษี ยกระดับความรู้ความเข้าใจทางภาษี และเฟ้นหา Solution ของสตาร์ทอัพที่ช่วยพัฒนาการบริการด้านภาษีให้กับประชาชน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อย่นระยะเวลาในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีให้ตอบโจทย์ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป
โดย Solution ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ " iTAX bnk " Mobile Banking Platform สำหรับอำนวยความสะดวกในการจัดการภาษีของเจ้าของธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจรเพื่อแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่มีความรู้ด้านภาษี ทำธุรกิจได้ปกติอย่างไร้กังวล เพราะ iTAX จะจัดการภาษี ไม่มีความเสี่ยงถูกประเมินภาษีย้อนหลัง โดยบริษัท ไอแท็กซ์ อินคอเปอร์เรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Startup Fund; S3) ระยะของการเติบโต (Growth) จากดีป้าอีกด้วย
ภาพที่ 1: กรมสรรพากร-ดีป้า ประกาศผลรางวัลงาน #HACKATAX และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ที่มา: https://www.rd.go.th/61674.html
และที่สำคัญที่สุด เพื่อต่อยอดให้ Solution เหล่านี้สามารถทำมาทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงอย่างเป็นรูปธรรม กรมสรรพากรและดีป้าได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดทำ Regulatory Sandbox ในชื่อ Tax Sandbox “โครงการการพัฒนากลไกทดสอบรูปแบบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและการให้บริการให้กับผู้เสียภาษี” ภายใต้แนวคิด “ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” ระยะเวลาทดสอบไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยเปิดพื้นที่ให้กับทีมผู้ชนะจากโครงการ HACKATAX สามารถทดสอบผลงาน Solution ที่เกี่ยวข้องก่อนนำมาใช้จริง
ประเด็นที่พบในการทำ Regulatory Sandbox ของสตาร์ทอัพ และข้อเสนอแนะ
โดยหลังจากที่สตาร์ทอัพได้เข้าร่วมการทำ Regulatory Sandbox มาระยะเวลาหนึ่ง ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้บริหาร iTAX และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากกรมสรรพากร อาจถอดบทเรียนและสรุปประเด็นได้ดังต่อไปนี้
การทำ sandbox จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ลำพังการลงนามความร่วมมือระหว่าง iTAX และกรมสรรพากรมีไม่เพียงพอที่จะทำให้การทำ Sandbox เป็นไปอย่างราบรื่นเพราะเกี่ยวข้องกับผู้ส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่มีกฎระเบียบในการทำงาน ทำให้สตาร์ทอัพต้องเข้าไปเจรจา พูดคุย เพื่อปรับแก้ไขกฎระเบียบ ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ เช่นในกรณีของ iTAX bnk มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานนอกเหนือจากสรรพากร คือ ธนาคารกรุงไทย เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าเปิดบัญชีใหม่เพื่อธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตนเอง และจำเป็นต้องประสานกับกระทรวงมหาดไทย ในการขออนุญาตเชื่อมข้อมูลบุคคลในขั้นตอนการยืนยันตัวบุคคล (KYC) ซึ่งหน่วยงานทั้งสองไม่ได้มีลงนามความร่วมมือ Regulatory Sandbox ร่วมกับ iTAX และยังคงทำงานภายใต้กฎระเบียบของหน่วยงานตนเอง ซึ่งกรณีนี้จะเห็นว่าเป็นความท้าทายในการดำเนินโครงการ Sandbox ซึ่งภาครัฐควรมีการผ่อนปรนข้อจำกัด ระเบียบ สำหรับสตาร์ทอัพที่ได้รับอนุญาตให้ทำ Sandbox แบบไร้ข้อจำกัด เปิดพื้นที่ให้ลองลงมือทำ แล้วจึงประเมินผลว่าหากมีหรือปราศจากระเบียบแล้ว ผลลัพธ์จะมีประสิทธิภาพดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
รวมทั้ง หากหน่วยงานของรัฐสามารถทำงานแบบ one-stop-service ข้อมูลเชื่อมโยงกันได้ จะทำให้กระบวนการ Paperwork ที่ต้องประสานกับหน่วยงานราชการเป็นไปง่ายขึ้น ส่งเสริมให้คนเข้าสู่ฐานข้อมูลของรัฐอย่างถูกต้องและเป็นปัจจัยดึงดูดการทำ Doing Business จากนักลงทุนหรือสตาร์ทอัพจากต่างประเทศได้
อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การติดต่อภาครัฐอาจดำเนินการณ์ได้ช้าลงจากสถานการณ์ Lockdown การติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ และการประสานงานในทีมของสตาร์ทอัพเองก็ทำได้ยากขึ้น เป็นผลให้การดำเนินการโครงการใช้เวลามากขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ ดังนั้นทำให้เห็นว่า Risk Management ก็มีความสำคัญที่ต้องทำมาพิจารณาในกระบวนการวางแผนทำงานให้ลุล่วง ไม่ให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจและทางราชการเอง
การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาทดลองใน Sandbox ต้องมีประสิทธิภาพ น่าดึงดูด และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน เช่นในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างการเข้าระบบภาษี หากสื่อสารไม่ชัดเจน ประชาชนยังรู้สึกไม่มั่นใจว่าตนเองอาจจะได้รับผลกระทบโดนเรียกภาษีย้อนหลัง หากเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของรัฐ ทั้ง ๆ ที่มีเจตนาที่ดี เต็มใจที่จะเสียภาษีอย่างถูกต้องก็ตาม ประเด็นนี้จึงเป็นความท้าทายของการทำ Sandbox ในระยะทดลองนี้อาจทำให้ไม่ได้กลุ่มผู้ใช้งานที่ครอบคลุมประชากรจริง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จริงในอนาคตได้
ข้อสังเกตท้ายสุดคือ การทำ Hackathon เริ่มต้นมาจากไอเดีย แก้ไข Pain Point ของหน่วยงานราชการ ซึ่ง Solution ของสตาร์ทอัพที่เข้าประกวด อาจจะยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้งานให้ตรงกับความต้องการของหน่วยงานราชการนั้น ๆ ทำให้สตาร์ทอัพต้องแก้ไขผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งพัฒนา Feature ใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ในประเด็นนี้ อาจจะแก้ไขได้หากมีการจัดการระดมความคิดเห็นอย่างเข้มข้น โดยมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน สตาร์ทอัพ SME หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มาแสดงความคิดเห็นและกำหนดแนวทางการทำ Sandbox โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจก่อนจะจัดโครงการเพื่อจะได้เห็นมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแล ผู้เสนอ Solution และผู้ใช้งานจริง เป็นผลให้การทำ Sandbox มีความสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง และได้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์สูงสุด
สรุป
อาจสรุปว่าถึงแม้จะยังเห็นความไม่สำเร็จหรือผลลัพธ์ของการทำ Regulatory Sandbox แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของการร่วมมือที่จริงจังของภาครัฐและเอกชน เพื่อลดอุปสรรค เปิดโอกาสและให้พื้นที่ทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพไทย เพื่อเห็นปัญหาจริงหรือค้นพบปัญหาใหม่ที่หากไม่ได้ลองทดสอบก็ไม่มีทางรับรู้ หรือในทางกลับกัน เราอาจมองเห็นโอกาสใหม่และ Solution ใหม่ ระหว่างทางที่ดำเนินการ sandbox ก็เป็นได้ และการทำ Regulatory Sandbox เป็นวิธีการที่เป็นรูปธรรมที่สุดอันหนึ่ง เพื่อนำประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายคือ ภายในปี 2027 ดัชนีนวัตกรรมของไทยจะอยู่ในอันดับ 30 ของโลก มีความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดเม็ดเงินและบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ประเทศ ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเป็นผลดีต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยได้ในอนาคต
โดย นางสาวรัตนากร ฐิติสุรวัฒน์
สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิง