บริการ
TH
EN
TH
CN

“Smart City” (เมืองอัจฉริยะน่าอยู่) คืออะไร เกี่ยวอะไรกับคนในวงการออกแบบ?

  1. “Smart City” (เมืองอัจฉริยะน่าอยู่) คืออะไร เกี่ยวอะไรกับคนในวงการออกแบบ?

คำว่า “Smart” คือ การทำให้ฉลาด การทำให้ดีขึ้น เมื่อมาใช้กับความเป็นเมือง คำว่า “Smart City” จึงเป็นการนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือกระบวนการที่ชาญฉลาด มาช่วยแก้ไขและปรับปรุงให้ประชาชนในเมืองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ในปัจจุบัน คำว่า “ดีขึ้น” นี้อาจจะอาศัยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งแต่ที่เราใช้กันจนคุ้นเคยอย่างเช่นสมาร์ตโฟน กล้องวงจรปิด CCTV ที่มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลได้เอง หรือ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตต่าง ๆ (Internet-of-Things หรือ IoT) มาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเมือง

การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ คล้าย ๆ กับ “การแทรกแทรง” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือที่เราใช้ภาษาอังกฤษทับศัพท์ว่า “Disrupt” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือในวงการสื่อ ซึ่งปัจจุบันถูก Disrupt อย่างหนัก คนหันมาดูโซเชียลมีเดียที่เลือกดูเองได้ตามใจ (หรือ On-Demand) เช่น YouTube แทนการดูโทรทัศน์ หรือการที่คนเราเริ่มไม่อ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษ มาอ่านบนโซเชียลมีเดียแทน เป็นต้น

ซึ่งในวงการการบริหารจัดการเมืองก็เช่นกัน ถ้าเรามีเซนเซอร์เก็บข้อมูล เราก็จะสามารถรู้ข้อมูลได้แบบปัจจุบัน (Real Time) เพื่อนำมาแก้ปัญหาได้รวดเร็วและตรงจุด การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มองเห็นปัญหาในภาพกว้างด้วยข้อมูล ซึ่งการที่ข้อมูล “ไม่โกหก” ทำให้เราสามารถมองเห็นมิติของปัญหาของเมืองที่ต่างออกไปจากสมัยก่อน ความสามารถของข้อมูลนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบผังเมือง การออกแบบอาคารในเมือง เพราะว่าเทคโนโลยีจะเข้าเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย อาทิ การที่เราเริ่มเห็น Smart Home ที่มีผู้อยู่อาศัยติดตั้งเซนเซอร์หลายรูปแบบในบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความบันเทิง ต่อไปตัวเซนเซอร์ก็จะขยายตัวออกมาสู่ในระดับของเมือง ติดตั้งบนถนน สัญญาณไฟจราจร สภาพอากาศระดับฝุ่นละออง PM 2.5 หรือแม้กระทั่งฝาท่อระบายน้ำที่ทำให้รู้ว่าปิดหรือเปิดอยู่ หรือถังขยะที่ทำให้ระบบรู้ว่าขยะเต็มหรือยังควรจะต้องส่งรถมาเก็บเมื่อไหร่ ซึ่งจะช่วยในการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมของเมือง

เช่นเดียวกันกับการสร้างแบบจำลองเสมือนของอาคาร (Building Information Modeling หรือ BIM) ที่จะทำให้เกิดเป็นการสร้างแบบจำลองวัตถุขึ้นในโลกดิจิทัล หรือ “Digital Twin” เป็นแบบจำลองเมืองกายภาพที่ทำให้เราบริหารจัดการเมืองได้ง่ายขึ้น สามารถที่จะแก้ปัญหาภัยพิบัติ หรือประเมินผลกระทบของการออกแบบต่อเติมเมืองก่อนจะสร้างจริงในโลกดิจิทัล และทำการทดลอง ทดสอบ หรือการจำลอง จนกระทั่งมั่นใจก่อนสร้างจริง

  1. ภาครัฐมีการส่งเสริม Smart City อย่างไร? เมืองไทยเรามีนโยบาย “Thailand 4.0” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนคุณค่าไม่ใช่ปริมาณ หรือ Value–Based Economy คือการนำเอานวัตกรรมมาช่วยในการขับเคลื่อน ถ้าหน่วยย่อยของประเทศคือเมือง เมืองก็ควรจะต้องเป็น 4.0 ด้วย ต้องนำนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อน Smart City เป็นแนวทางในการสร้าง Thailand 4.0 มองจากภาคประชาชนขึ้นมา หรือที่เรียกว่า Button-Up ครับ ซึ่งเมื่อเมืองเจริญ ประเทศก็จะเจริญ ในปัจจุบันภาครัฐมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง แต่งตั้งโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการกำหนดแผนแม่บทของเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และให้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” (depa) เป็นสำนักงานเลขา ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดรูปแบบและเกณฑ์การพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ด้าน เมืองทีมีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะสามารถสมัครเข้ามาที่ดีป้า เพื่อขอรับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ อย่างเช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI สิทธิประโยชน์ของการเป็นเขตทดสอบ ทดลอง เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ “Sandbox” ของ กสทช. เป็นต้น
  2. เอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมกับ Smart City ได้ทางไหนบ้าง? คำว่า “เมือง” ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ของภาครัฐ เช่น จังหวัด อำเภอ เสมอไป เอกชนที่มีพื้นที่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา หรือ ภาคเอกชนที่จับมือกับเมือง สามารถข้อเสนอโครงการเข้ามาที่ดีป้า เพื่อรับการส่งเสริมเป็นพื้นที่ส่งเสริมเมืองอัจฉริยะของดีป้าได้ เมือง เพื่อจะพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 40 โดยเป้าหมายของประเทศ เราต้องการ 100 เมือง ในปี 2565 ที่มีแผนจะพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ สามารถอ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ https://smartcitythailand.or.th ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มเข้ามาบทบาททุกวงการ ไม่เว้นแต่วงการพัฒนาเมือง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวงการสถาปนิกในการออกแบบผังเมืองเป็นอย่างมาก

โดย ดร. นายภาสกร ประถมบุตร

รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มโครงการพิเศษและผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล