บริการ
TH
EN
TH
CN

Smart Health ในยุค New Normal

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมทางการแพทย์ (Healthcare) ต้องปรับตัวเองเข้าสู่โลกดิจิทัลเนื่องจากอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคและองค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ทันท่วงที เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยแวดวงทางการแพทย์ต้องเป็นแนวหน้าในการสู้กับ Covid-19 อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่าง ๆ ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างหลากหลาย เช่น การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) การปฏิบัติงานทางไกล (Telemedicine) รวมถึงการให้คำปรึกษาออนไลน์ (Video Conferencing) เป็นต้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปี 2020 ที่ผ่านมา การระบาดใหญ่ของโรค Covid-19 ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระทบผู้คนจำนวนมากทั่วโลก เป็นการระบาดระดับ Pandemic ซึ่งมีความรุนแรงและเป็นปรากฏการณ์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศจึงตื่นตัวที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือนวัตกรรมล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้ในการแพทย์เพื่อยกระดับความสามารถและแก้วิกฤติจากการระบาดของโรคตัวใหม่นี้ ซึ่งในช่วงแรกของการเกิดโรคระบาดนั้น ประเทศจีนได้มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยมีการผสมผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่มาช่วยไม่ว่าจะเป็น Cloud, Blockchain, AI, Big data, 5G และ Robot มาสนับสนุนทางการแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น การใช้หุ่นยนต์เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่าง รวมทั้งการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในโรงพยาบาล อีกทั้งยังช่วยลำเลียงยารักษาโรค ทั้งยังมีการใช้โดรนในการพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาความสะอาด อีกด้านหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือ การคัดกรองผู้ป่วย ได้มีการใช้กล้องถ่ายภาพตรวจวัดอุณหภูมิ ทำให้สามารถระบุและตรวจจับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ และยังมีแอปพลิเคชันในการบริการปรึกษาแพทย์ทางไกล โดยผู้ป่วยสามารถนัดเวลากับแพทย์ก่อนที่จะพบแพทย์ในรูปแบบวีดีโอ รวมถึงการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางไกล (Remote CT Scans) และการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อจากภาพ CT Scans โดยสามารถระบุความแตกต่างระหว่าง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 กับผู้ป่วยโรคปอดติดเชื้อทั่วไปได้ การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้อัตราการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลไปถึงการลดจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศแคนาดาได้คิดค้นระบบติดตาม Covid–19 ออนไลน์แบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อโดยจะแบ่งตามภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วนำไปสู่การป้องกันตัวเองได้อย่างทันท่วงที ประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัส Covid–19 ได้ในเวลาเพียง 5 นาที ประเทศไต้หวันได้พัฒนาเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย Covid–19 โดยไม่จำเป็นต้องทดลองรักษากับคนไข้จริงเพื่อลดความเสี่ยง

ทางด้านประเทศไทย อุตสาหกรรม Healthcare กำลังเผชิญความท้าทายหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี การเกิดโรคใหม่ ๆ ซึ่งผลที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนในประเทศที่สูงขึ้น ซึ่งหลังจากการระบาดของโรค Covid-19 ประเทศไทยต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เรียกว่า New normal โดยมีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อม ได้แก่ (1) เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์เป็นสำคัญ (2) ลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาล และ (3) ต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำในการได้รับการรักษา ซึ่งตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ในไทยได้มีการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมในการรับมือการระบาดครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Pattani Model ที่จังหวัดปัตตานี ปรับบริการทางการแพทย์วิถีใหม่ มีการจำลองโรคผู้ป่วยโดยจำแนกเป็นสามกลุ่มตามสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ สีเขียว (มีความเสี่ยงน้อย) สีเหลือง (มีความเสี่ยงปานกลาง) และสีแดง (มีความเสี่ยงสูง) ซึ่งพิจารณาจากความจำเป็นในการดูแลทางการแพทย์โดยตรงและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 ผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องไปที่สถานพยาบาลจะใช้แอปพลิเคชันเพื่อปรึกษาทางไกลกับแพทย์ ส่วนยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ จะถูกส่งไปให้กับประชาชนถึงบ้านโดยมีอาสาสมัครในหมู่บ้านให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันได้มีการปรับใช้ระบบบริการการแพทย์วิถีใหม่ในโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในประเทศไทยมีการพัฒนา แอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องนี้ค่อนข้างหลากหลาย หนึ่งในตัวอย่างนั่นคือ แอปพลิเคชัน หมอรู้จักคุณ ที่รองรับสาธารณสุขวิถีใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยผ่านช่องทางดิจิทัล ทำให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วย มีระบบให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุขผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับประชาชน เน้นการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง มีช่องทางการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ด้วยการส่งตำแหน่งไปยังเจ้าหน้าที่ประจำคลินิก ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ประหยัดค่าเดินทางและเวลา ลดความเหลื่อมล้ำ และยังลดความแออัดในโรงพยาบาลที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid–19 อีกด้วย

นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น กล้องจดจำใบหน้าเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิและแจ้งเตือนผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากาก มีการนำหุ่นยนต์บริการทางการเแพทย์มาใช้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อคอยช่วยรับส่งอาหารและยา พร้อมส่งอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพผู้ป่าย หรือที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีหุ่นยนต์ เวสตี้ (Wastie) เก็บขยะติดเชื้อ โดยใช้แขนกลยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์ มีการสร้างแอปพลิเคชัน หมอชนะ เพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยง Covid–19 โดยเก็บข้อมูลจาก GPS นอกจากนั้นทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน ไทยชนะ ขึ้นมาเพื่อผู้ประกอบการและประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการร้านค้า ทำให้ได้รู้ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในแบบเรียลไทม์ หากมีการตรวจพบว่ามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 หรือผู้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะมีข้อความจากระบบให้ไปตรวจ COVID-19 ทำให้เกิดการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที

โดยรวมแล้วประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ที่ได้เปรียบกว่าหลายประเทศ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากและสร้างรายได้มหาศาลให้กับเมืองไทย หากในอนาคตประเทศไทยต้องการก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub ของภูมิภาคนี้ ขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ปรับเปลี่ยนมุมมองและตระหนักถึงความสำคัญของการนำ Digital Healthcare มาใช้ โดยสามารถศึกษาจากกรณีตัวอย่างจากประเทศอื่น ๆ และนำมาต่อยอดการพัฒนาทั้งในด้านของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

โดย นางสาวศารีญ่า เบ็ญอาหลี

สาขาภาคใต้ล่างตอนล่าง

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก: