เชื่อว่าหลายคนคงเริ่มจะคุ้นหูกับคำว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล” มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว และอาจกำลังทำความคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว การส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล นอกจากจะช่วยยกระดับศักยภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิต และปรับตัวรองรับได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของประชากรวัยแรงงาน หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แล้ว ยังมีส่วนทำให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนประเทศอย่างไร ??
การพัฒนาศักยภาพทักษะดิจิทัลในทุกระดับให้กับบุคลากร แรงงานและประชาชนทั่วไป รวมถึงเชื่อมโยงกำลังคนดิจิทัลที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน และจะนำไปสู่การเพิ่มอัตราการจ้างงาน การพัฒนาผลิตภาพการผลิต การเพิ่มกำลังซื้อ การยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างชุมชนเข้มแข็ง และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม และชุมชน
ใครที่ควรพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และเพื่อประโยชน์อะไร ??
- นักเรียน นักศึกษา และแรงงาน มีทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ พร้อมเรียนรู้ ปรับตัว และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีทักษะความเชี่ยวชาญดิจิทัลเฉพาะด้าน (Professional) และสาขาที่ขาดแคลน เช่น AI, IoT, Data Science, Big Data, Cound Computer เป็นต้น รวมทั้งมีทักษะใหม่ต่อยอดความถนัดเดิม (Reskill) และพัฒนาทักษะเดิมให้มีความเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น (UpSkill) ตลอดจนกำลังคนได้รับการพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้สามารถได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนไปสู่สายอาชีพที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

- ผู้ประกอบการรายใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรม มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและสามารถขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (digitalized enterprise) เช่น Mobile & Cloud, Big Data & Analytics, Internet of Things, Artificial Intelligence, Blockchain, Advanced Robotics และ Driverless Things เป็นต้น ทำให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพสินค้าบริการ เพิ่มการลงทุนในธุรกิจ และเกิดการจ้างงาน ขยายตลาด เข้าสู่ Smart Factory และ High-value Service

- ผู้ประกอบการ SMEs การค้าและบริการายย่อย รวมถึงหาบแร่ แผงลอย
สามารถเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่มีมาตรฐานรับรองคุณภาพ เช่น ระบบ Point of Sale (POS), ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP), ระบบCustomer Relationship Management (CRM), ระบบ Manufacturing Resource Planning (MRP), ระบบ Enterprise Asset Management (EAM) เป็นต้น นำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ รองรับการแข่งขันรูปแบบใหม่

- วิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital startup)
สามารถจดจัดตั้งธุรกิจ มีศักยภาพในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดสากลได้มากขึ้น สามารถก้าวสู่ระดับ Serie A จนทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมทั้งผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Providor) สามารถจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ดิจิทัลสัญชาติไทย และได้รับมาตรฐานสากล (ISO/IEC 29110) นำไปสู่การเกิดระบบนิเวศน์ของวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ทั้งในด้านการสร้างเครือข่าย การสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ เกิดการจับคู่ธุรกิจ และสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน

- เกษตรกร สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เช่น ระบบ IoT เพื่อการจัดการน้ำ, ระบบ smart farm, Smart Agriculture Technology, Sensor Drone, Intelligent Application เป็นต้น เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาสู่เกษตรกรมืออาชีพ (Smart Farmer) มีศักยภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น เกิดการลดต้นทุน และสร้างรายได้ นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่ระดับสากล

- ชุมชน สามารถต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มขีดความสามารถภายใต้แนวคิด “ชุมชนคิด ชุมชนเลือก ชุมชนทำ เพื่อชุมชนยั่งยืน” ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการรักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด รวมถึงสร้างอาชีพสร้างงานในชุมชนและในภาคการเกษตร

- ประชาชนทั่ว ไป มีความรู้เข้าใจในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิทัลมากขึ้น (Digital Literlacy) มีความตระหนักรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกที่ทุกเวลา ผ่าน Digital Platform ได้แก่ Digital Skill, Thai Digizen, Thai Mooc, THAISKILL และ Coding Thailand รวมทั้งประชาชนทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส คน มีทักษะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล นำไปสู่การกระจายรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพชุมชนและสังคม และลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนพิการ ตลอดจนสามารถใช้ไซเบอร์ปลอดภัย ซึ่งช่วยให้มีความรู้ในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยลดการถูกหลอกลวงและการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyberbullying)

พร้อมหรือยัง …. กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ??
การขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย ไปสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy and Society) เพื่อให้ประเทศไทย ตั้งแต่เกษตรกร ชุมชน ประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs โรงงาน และผู้ประกอบการวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup) รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา สามารถปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและนําไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยใช้ความต้องการของประเทศและตลาดเป็นตัวนํา (Demand Driven) การสร้างสังคมฐานความรู้อย่างทั่วถึง (Inclusive Knowledge Based Society) และการผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สู่การเป็นเมืองน่าอยู่
ดังนั้น เราทุกคนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เรื่องการเรียน/การศึกษา การสร้างอาชีพ/การทำงาน การประกอบธุรกิจ และการดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และตรงกับความต้องการ
โดย ศิวนันท์ หมุนสิงห์
ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล