บริการ
TH
EN
TH
CN

เทคโนโลยีวีอาร์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ

ข้อมูลจากรายงานการคาดการณ์ประชากรของประเทศไทยระหว่างปี 2553-2583 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอต่อรัฐบาล ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์เกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยใน พ.ศ. 2563 นี้ มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 12 ล้านคน และคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ในปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว โดยตัวเลขผู้สูงอายุของไทย จะเพิ่มมากขึ้นเป็น 20.42 ล้านคนในปี 2583 ส่วนประชากร “วัยแรงงาน” ช่วงอายุ 15-59 ปี ในปี 2563 มีจำนวนประมาณ 43.26 ล้านคน แต่มีแนวโน้มลดลงเป็น 36.5 ล้านคนในปี 2583 กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าอัตราส่วน “วัยแรงงาน” ต่อ “ผู้สูงอายุ” จะลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สุงอายุ 1 คนในช่วงปี 2583 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่าประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อสังคมผู้สูงอายุ

ภาพที่ 1 คาดการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศไทย พ.ศ. 2553 - 2583 ที่มา: https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=9814

การเตรียมความพร้อมรับมือต่อสังคมผู้สูงอายุด้านที่สำคัญด้านหนึ่งคือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อดูแลตนเองและเฝ้าระมัดระวังเกี่ยวกับสุขภาพกายใจ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และช่วยสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อีกด้วย อาทิ การส่งเสริมการเรียนรู้ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยในการดำรงชีวิต ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมักเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่า โดยผู้สูงอายุสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุในการดำรงชีวิต ตลอดจนสามารถดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองในเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความน่าสนใจอันจะช่วยทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสุขภาพและการประยุกต์เป็นอุปกรณ์ช่วยในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุในยุคดิจิทัลที่ผู้เขียนอยากนำเสนอในบทความนี้ ได้แก่ “เทคโนโลยีเสมือนจริง” หรือที่เรียกว่า “เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality (VR))” เป็นเทคโนโลยีที่นำคอมพิวเตอร์กราฟิกซึ่งมีการประมวลผลด้วยความเร็วสูง และใช้โปรแกรมลักษณะเฉพาะ เพื่อสร้างโลกเสมือนจริงให้กับผู้ใช้ที่สวมอุปกรณ์ครอบศีรษะ ประกอบกับการสวมแว่นและหูฟัง ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกเสมือนจริงต่อเหตุการณ์ เพราะได้ยินเสียง ได้สัมผัสประสบการณ์ และดื่มด่ำกับการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่นำเสนอนั้น โดยที่เทคโนโลยีดังกล่าวนับวันก็จะยิ่งมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ อีกด้วย ภาพที่ 2 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality (VR) ที่มา: https://www.dailygizmo.tv/2017/06/22/samsung-start-gear-vr-uhd/ โดยสถาบัน American Psychological ได้มีการจัดกลุ่มเทคโนโลยีวีอาร์ที่ถูกนำมาใช้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพในหลายด้าน ได้แก่

  1. การวิเคราะห์ความสามารถ ทักษะทางสติปัญญา (Assessment of Cognitive Abilities) โดยการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้สร้างสภาพแวดล้อมจําลอง สำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ทดสอบความสามารถทักษะ ทางสติปัญญาเพื่อเพิ่มความแม่นยํา และความถูกต้องมากกว่าการตรวจสอบแบบดั้งเดิม ภาพที่ 3 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality (VR) ด้านการวิเคราะห์ความสามารถ ที่มา: https://vrphone.in.th/content/article/surgical.php

  2. การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย (Rehabilitation Intervention and Training) โดยการใช้สร้างจําลองสภาพแวดล้อมให้ผู้ใช้งานเกิดความสนุกสนานในการออกกําลังกาย หรือทำกายภาพบำบัด และเป็น เครื่องมือที่สามารถนําไปใช้ในด้วยตนเอง ผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ได้โดยไม่รู้สึกเบื่อง่าย ภาพที่ 4 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality (VR) ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ที่มา: https://www.hsri.or.th/researcher/media/news/detail/11810

  3. การฝึกปฏิบัติให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ (Vocational and Social Retraining) ซึ่งอาจเป็นการฝึกปฏิบัติในสถานที่มีลักษณะเฉพาะ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเป็นไปได้ยาก หรือจำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก เทคโนโลยีวีอาร์สามารถช่วยในการจําลองสถานที่หรือสถานการณ์เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ฝึกประสบการณ์และความเชี่ยวชาญได้ ภาพที่ 5 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality (VR) ด้านการฝึกปฏิบัติให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ ที่มา: http://www.linkgraph.in.th/2018/04/18/mixed-reality-การผ่าตัด/

  4. การฝึกพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกันในสังคม (Social Interaction) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการกลัวในการเข้าร่วมกับผู้อื่นในสังคม ภาพที่ 6 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality (VR) ด้านการฝึกพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มา: https://www.quickserv.co.th/knowledge-base/solutions/Virtual-Reality-เทคโนโลยีสุดล้ำดี-ๆ-ที่ไม่ได้มีไว้แค่เล่นเกม/

  5. การสาธิตและส่งเสริมการเรียนรู้ (Client and Family Education) ซึ่งจะช่วยในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตนเอง หรือบุคคลในครอบครัว หรือตระหนักถึงการลดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงหลังจากการรักษา เป็นต้น ภาพที่ 7 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ (Virtual Reality (VR) ด้านการสาธิตและส่งเสริมการเรียนรู้ ที่มา: http://sayoko6986.blogspot.com/2018/03/exo-v2.html นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า เทคโนโลยีวีอาร์สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยปรับปรุงพฤติกรรมการออกกําลังกายให้แก่ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี โดยจะช่วยสร้างแรงบัลดาลใจให้แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งยังทำให้ผู้ออกแบบและผู้พัฒนาระบบสามารถควบคุม หรือปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเสมือนจริงได้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้สูงอายุที่ต้องการออกกําลังกายในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในการนําเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับผู้สูงอายุ ก็จำเป็นต้องอาศัยการออกแบบอุปกรณ์การใช้งานให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ มีการกำ หนดขอบเขตและเงื่อนไขในการใช้งานอย่างชัดเจน และมีการจัดสิ่งแวดล้อมจําลองที่เหมาะสมกับสภาพสายตาของผู้สูงอายุอีกด้วย ตัวอย่างของต่างประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีวีอาร์มาใช้ส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น ประเทศแคนนาดา ได้นำวิดีโอเกมที่มีการนำเทคโนโลยีวีอาร์มาใช้เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจและความสนุกสนานในการออกกำลังกายและเพิ่มปริมาณความถี่ในการออกกำลังกาย เพราะผู้ใช้งานมีความสะดวกสบายแม้ว่าจะใช้งานขณะอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ประเทศแคนนาดายังนำเทคโนโลยีวีอาร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาของผู้สูงอายุ โดยช่วยให้ผู้สูงอายุลดความลังเลที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกหรือมีความเหงา มีการนำไปใช้จำลองสถานการณ์การหกล้มของวัยเก๋าที่มีปัญหาด้านสุขภาพ หรือมีความคล่องตัวลดลงได้ ส่วนตัวอย่างอีกประเทศหนึ่ง คือ กลุ่มสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ได้มีการนำเทคโนโลยีวีอาร์มาใช้สำหรับการลดความบกพร่องทางปัญญาและการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากความบกพร่องทางสติปัญญา โดยมีการนำไปใช้ส่งเสริมกระบวนการวินิจฉัยรักษาและการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะแรก ซึ่งการสร้างระบบและกลไกที่นำเทคโนโลยีวีอาร์มาใช้ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้แบบสหวิทยากรเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อไป และอีกหนึ่งตัวอย่างในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวีอาร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เริ่มนำ VR มาใช้ในทางการแพทย์เพื่อดูแลรักษาผู้สูงอายุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เพื่อพัฒนาสภาพจิตใจของคนไข้ผู้สูงอายุระหว่างรักษา ทำให้คนไข้ผู้สูงอายุใจเย็นลงหรือใช้เบี่ยงเบนความเจ็บปวดของคนไข้ผู้สูงอายุ รวมถึงขึ้นตอนใน การบำบัดผู้ป่วยทางจิตจำพวกโรควิตกกังวล (Anxiety) หรือโรคกลัวต่าง ๆ (Phobia) ได้ด้วย และยิ่งกว่านั้นยังสามารถใช้เป็นเครื่องมืออธิบายกระบวนการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยเห็นภาพการผ่าตัดจริงแบบละเอียด แม้ว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีวีอาร์ยังจำเป็นจะต้องมีการศึกษาและพัฒนาต่อไปให้มีการนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมในการเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ แต่จากข้อมูลการศึกษาวิจัยก็จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีวีอาร์เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ผู้สูงวัยทั้งในด้านการฟื้นฟูและเยียวยาสุขภาพร่างกาย หรือเพิ่มภูมิต้านทานให้กับสุขภาพใจของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ซึ่งการจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์หรือพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุนั้น ผู้เขียนเห็นว่านอกจากจะต้องมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ยังจะต้องอาศัยการสร้างทัศนคติที่ดีของผู้ใช้งานด้วยเป็นสำคัญว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีคุณอนันต์หากรู้เท่าทัน ใช้สร้างสรรค์อย่างปลอดภัย

โดย ดร.ภัทรพร เย็นบุตร ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิง: • เจาะประเด็นร้อน (https://www.komchadluek.net/news/scoop/411272.) • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (https://www.ryt9.com/s/prg/2687819.) • Cheng-Shih Lin, Mei-Yuan Jeng and Tsu-Ming Yeh, “The Elderly Perceived Meanings and Values of Virtual Reality Leisure Activities: A Means-End Chain Approach”, Int. J. Environ. Res. Public Health 2018, 15, 663; doi:10.3390/ijerph15040663, p. 2-3. • นิพัทธ์ ยมกิจ, ความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อปรับปรุงสุขภาพ ของผู้สูงอายุที่ต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพ, วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายและการบริหารดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561, หน้า 11-12. • Sally Hughes, Kathryn Warren-Norton, Pat Spadafora and Lia E. Tsotsos, “Supporting Optimal Aging through the Innovative Use of Virtual Reality Technology”, Multimodal Technologies and Interact, 2017, 1, 23; doi:10.3390/mti1040023. p. 3-4. • Rebeca I. Garcı ´a-Betances, Viveca Jime ´nez-Mixco, Marı ´a T. Arredondo, and Marı ´a F. Cabrera-Umpie ´rrez, “Using Virtual Reality for Cognitive Training of the Elderly”, American Journal of Alzheimer’s Disease & Other Dementias, 2015, Vol. 30(1), p. 52-53.