จากศักยภาพเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือ เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีเบื้องต้นของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์กร UNESCO และ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง เชียงใหม่ยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จึงเป็นฐานการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad เข้ามาใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เชียงใหม่จะมีวิธีการปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับ “ความเก่า” โดยรักษาอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาของตนได้อย่างไร จากมุมมองที่ได้ศึกษาแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่า ชาวเชียงใหม่มีความภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนและให้ความสำคัญกับการรักษาฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เกิดความร่วมมือการทำงาน และนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือนวัตกรรมเชิงความคิดมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์โครงการ ดี ๆ ออกสู่สังคม ดังนี้
การอนุรักษ์วัฒนธรรม ผ่านระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Urban Environmental Transition in Chiangmai) เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายกับสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer Institute) ประเทศเยอรมันนี และ UNESCO ที่มุ่งเน้นการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในอาคารบ้านเรือน โครงการนี้เกิดจากความท้าทายที่ว่า แต่เดิมสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของชาวล้านนา ออกแบบสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ยกใต้ถุนสูง พร้อมเปิดรับลมให้พัดเข้าภายในตัวอาคาร เพื่อให้ตัวบ้านมีอุณหภูมิเหมาะแก่การอยู่อาศัย แต่ในปัจจุบัน สภาพอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะปริมาณ ฝุ่นควันในอากาศที่มีค่าเกินระดับมาตรฐาน ส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราเป็นมะเร็งปอดมากที่สุด ในประเทศไทย รวมถึงสภาพอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงขึ้น วิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่จึงได้เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ตัวอาคารบ้านเรือนก่อด้วยปูน ปิดกั้นทางเข้าของลมภายนอกสู่ภายในอาคาร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นพัดเข้าในตัวอาคาร รวมถึงการใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อระบายอากาศและแก้ไขปัญหาอุณหภูมิร้อนขณะอยู่อาศัย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ทัศนียภาพในเมืองเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนเป็นตัวตึกอาคารสมัยใหม่ที่สร้างแทนทับบ้านไม้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมมากยิ่งขึ้น จนอาจจะเสียอัตลักษณ์ความเป็นเมืองมรดกทางวัฒนธรรมไป ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทั้งไทยและต่างประเทศและภาคีเครือข่ายจึงได้ระดมกำลังทางความคิดในการออกแบบคิดค้นระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในบ้านเรือน ด้วยการใช้นวัตกรรมรีโทรฟิตติง (Retrofitting) ที่จะช่วยให้ชาวเชียงใหม่สามารถอยู่ในอาคารแบบดั้งเดิมด้วยสภาวะน่าสบาย (Thermal Comfort) ไม่ปรับเปลี่ยนบ้านเรือนให้บรรยากาศเมืองเสียอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา
ภาพจำลองการถ่ายเทความร้อนในอาคาร อาคารบ้านเรือนแบบดั้งเดิมและอาคารสมัยใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตัวอย่างถัดมา คือ “ปูมเมืองเชียงใหม่” เป็นการพัฒนาภายใต้แนวคิด การพัฒนาเมืองแห่ง การเรียนรู้ (Learning City) คือ เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิด การเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กร UNESCO ในการพัฒนาเชียงใหม่สู่นครแห่งการเรียนรู้ได้นั้น UNESCO มองว่าท้องถิ่นจะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning - UIL) จึงมีการจัดตั้งครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities- GNLC) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่เป็น GNLC 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ในบริบทของเมืองเชียงใหม่ มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการพัฒนากลไกความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ สู่การสร้างระบบนิเวศนครเชียงใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยกระบวนการศึกษาท้องถิ่น (Local Study) ในการศึกษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นและรวบรวมไว้เป็นข้อมูลเมือง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเผยแพร่เปิดให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อสาธารณประโยชน์ (Chiangmai City Atlas & Open Data) มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเรียนการสอนผ่าน platform ที่เป็นลักษณะ Virtual Reality เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละบุคคลและการทำงานร่วมกันของคนในเมือง รวมถึงการพัฒนาให้เกิดพื้นที่ต้นแบบและกิจกรรมที่นำไปสู่ การขับเคลื่อนนครเซียงใหม่เมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเมืองพลวัตที่ยั่งยืน (Learning Space) ตัวอย่างของกิจกรรมที่เกิดขึ้น ได้แก่ การจัด Forum เพื่อพูดคุยกันในประเด็นการพัฒนาเมืองในเรื่อง สิ่งแวดล้อมเมือง ระบบการขนส่ง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ ผ่านเวทีเชียงใหม่ฮอม: เวที “ฮอม” เพื่อแลกเปลี่ยนเปิดมุมมองทางความคิดให้ครบทุกมิติและนำไปต่อยอดในการพัฒนาเมือง
การแลกเปลี่ยนความคิดผ่านเวทีเชียงใหม่ฮอม, เชียงใหม่ฮอม
ตัวอย่างสุดท้ายที่น่าสนใจ คือ “เตียว-หย้อง-เมืองเชียงใหม่” เป็นโครงการนำร่องพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อผลักดันย่าน Active Walkable District ให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม ยกระดับสุขภาวะคนเมืองเชียงใหม่ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจากการท่องเที่ยว โดยมีการร่วมมือกันหลายภาคส่วน จัดตั้งเป็นคณะทำงานและพันธมิตรการพัฒนาย่านเดินได้เดินดีเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เครือข่ายเขียน สวย หอม เครือข่ายประชาธรรมเชียงใหม่ กลุ่มใจบ้าน และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ในการหารือกำหนดขอบเขต ปรับภูมิทัศน์ให้มีพื้นที่สีเขียวและมีเอกลักษณ์ความล้านนา และออกแบบปรับปรุงทางเท้าให้ปลอดภัย มีมาตรฐานสากล และเป็นไปตามหลักการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal design) ที่รองรับการใช้งานของประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่มผู้เปราะบาง โดยพื้นที่เป้าหมายมี 4 บริเวณ คือ
จะเห็นได้ว่าพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีศักยภาพและตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของการพัฒนาให้เป็น ย่านคนเดินได้เป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองอย่างรอบทิศ เต็มไปด้วยสาธารณูปการทางปัญญา เช่น สถานศึกษาและพื้นที่เรียนรู้ที่กระจายตัวไปทั่วกว่า 100 แห่ง และมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สามารถไหว้พระ 9 วัด ใน 1 กิโลเมตร ในเขตคูเมืองชั้นใน-ชั้นนอก
ภาพก่อนและหลัง การปรับภูมิทัศน์ย่านคนเดินบริเวณถนนท่าแพ, ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง
กล่าวโดยสรุป เชียงใหม่รับรู้ถึงจุดแข็งของตนเองที่มีจุดเด่นความเป็นล้านนา ประกอบกับกระแสความนิยมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เชียงใหม่มาได้ถูกทางที่พยายามสืบทอดอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนให้คงอยู่สืบไป ท่ามกลางกระแสค วามเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล อีกทั้ง การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จากทุกโครงการล้วน มีการจัดตั้งคณะทำงานหรือภาคีเครือข่ายที่ให้เสียงของประชาชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้การคิดค้นโครงการนั้นมาจากปัญหาหรือความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีจะช่วยเสริมให้การพัฒนามีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนในการพัฒนา สมดัง “การพัฒนาเมืองเก่าอย่างชาญฉลาด”
นายชิน จันทร์เจริญ
ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริย
อ้างอิง